สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดบวกเหนือระดับ 82 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อคืนนี้ (10 มี.ค.) หลังจากกระทรวงพลังงานสหรัฐเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบที่ปรับตัวขึ้นไม่มากเท่ากับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ซึ่งทำให้นักลงทุนคลายความวิตกกังวลจากภาวะดีมานด์พลังงานหดตัว นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาดูการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 17 มี.ค.ที่กรุงเวียนนา
สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย.พุ่งขึ้น 60 เซนต์ ปิดที่ 82.09 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 81.95-81.40 ดอลลาร์
ขณะที่สัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนเม.ย.เพิ่มขึ้น 2.48 เซนต์ ปิดที่ 2.2851 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนเม.ย.พุ่งขึ้น 57 เซนต์ ปิดที่ 80.48 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบดีดตัวขึ้นหลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่าดีมานด์พลังงานยังคงแข็งแกร่ง โดยกระทรวงพลังงานสหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 5 มี.ค.เพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรล หรือ 0.4% แตะที่ 343 ล้านบาร์เรล ซึ่งต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของปีที่แล้วราว 3.7% และเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะพุ่งขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรล
ขณะที่สต็อกน้ำมันเบนซินร่วงลง 2.9 ล้านบาร์เรล หรือ 1.3% แตะที่ 229 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 150,000 บาร์เรล และสต็อกน้ำมันกลั่นร่วงลง 2.2 ล้านบาร์เรล แตะที่ 149.6 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดว่าจะขยับลงเพียง 950,000 บาร์เรล ส่วนอัตราการใช้กำลังการกลั่นลดลง 1.2% แตะที่ 80.7%
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกสินค้าในภาคยอดค้าส่งของสหรัฐร่วงลงเกินคาด 0.2% ในเดือนม.ค. ขณะที่ยอดขายในภาคค้าส่งพุ่งขึ้น 1.3% ทำสถิติพุ่งขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 โดยสต็อกสินค้าที่ปรับตัวลดลงบ่งชี้ว่าภาคเอกชนทำยอดขายได้ดีและมีแนวโน้มปรับเพิ่มสินค้าในสต็อก
โอเปคคาดการณ์ว่าดีมานด์น้ำมันในตลาดโลกปีพ.ศ.2553 จะเพิ่มขึ้น 880,000 บาร์เรล/วัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดไว้ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 810,000 บาร์เรล/วัน
นอกจากนี้ นักลงทุนจับตาดูการประชุมโอเปคในวันที่ 17 มี.ค.ที่กรุงเวียนนา โดยโอเปคจะตัดสินใจว่าควรปรับเพดานการผลิตน้ำมันหรือไม่ หลังจากที่โอเปคตกลงกันในที่ประชุมปี 2552 ว่าควรคงเพดานการผลิตรายวันไว้ที่ 4.2 ล้านบาร์เรล เนื่องจากดีมานด์ในตลาดโลกถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย