สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (30 มี.ค.) โดยสัญญายังคงเคลื่อนไหวอยู่เหนือระดับ 82 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากสหรัฐเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและราคาบ้านที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้นักลงทุนคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะดีมานด์พลังงานหดตัว อย่างไรก็ตาม แรงบวกถูกสกัดลงหลังจากมีการคาดการณ์ว่าสต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่แล้วของสหรัฐจะพุ่งขึ้น
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนพ.ค.ดีดขึ้น 20 เซนต์ ปิดที่ 82.37 ดอลลาร์/บาร์เรล
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนเม.ย.ขยับขึ้นเล็กน้อย มาปิดที่ระดับ 2.1247 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินเดือนเม.ย.เพิ่มขึ้น 1.34 เซนต์ ปิดที่ 2.2747 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนพ.ค.เพิ่มขึ้น 11 เซนต์ ปิดที่ 81.28 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันเดือนพ.ค.ดีดตัวขึ้นหลังจากสำนักงานคอนเฟอเรนซ์ บอร์ด รายงานว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค.พุ่งขึ้นแตะระดับ 52.5 จุด จากเดือนก.พ.ที่ระดับ 46.4 จุด มากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 50 จุด
ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ทะยานขึ้นเกินคาดของสหรัฐสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคของสหรัฐมีมุมมองที่เป็นบวกมากขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเริ่มที่จะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นด้วย โดยตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคเดือนก.พ.เพิ่มขึ้น 0.3% ทำสถิติเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ห้า
นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากรายงานของสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์/เคส ชิลเลอร์ ที่ระบุว่า ราคาบ้านใน 20 เขตเมืองใหญ่ๆปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่แปด และการคาดการณ์ที่ว่าตัวเลขจ้างงานเดือนมี.ค.จะเพิ่มขึ้น 200,000 คน และคาดว่าอัตราว่างงานเดือนมี.ค.จะทรงตัวที่ระดับ 9.7%
สำนักงานพลังงานสากล (ไออีเอ) กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) และการประชุมพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอฟ) เตรียมประกาศ "แผนการดำเนินงานร่วม" ในปีนี้ เพื่อยับยั้งความผันผวนของตลาดน้ำมัน โดยแผนการดังกล่าวพุ่งเป้าไปที่การรับมือกับภาวะผันผวนของราคาน้ำมัน นอกจากนี้ ยังครอบคลุมถึงประเด็นแนวโน้มตลาดพลังงาน ทั้งนี้คาดว่าแผนการดังกล่าวจะมีการเปิดเผยภายหลังการประชุมไออีเอฟในวันที่ 31 มี.ค.นี้
นักลงทุนจับตาดูรายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐซึ่งจะมีการเปิดเผยในคืนวันพุธตามเวลาประเทศไทย โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าสต็อกน้ำมันดิบจะพุ่งขึ้น 2.6 ล้านบาร์เรล สต็อกน้ำมันกลั่นจะลดลง 1.4 ล้านบาร์เรล สต็อกน้ำมันเบนซินจะลดลง 1.7 ล้านบาร์เรล และอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันอาจเพิ่มขึ้น 0.2%