องค์กรอาหารและการเกษตร (FAO) ของสหประชาชาติ แสดงความวิตกต่อปัญหาภัยแล้งที่รุนแรง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวในประเทศไทย และเวียดนาม ขณะที่สถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำโขงกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตด้วยปริมาณน้ำที่ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 90 ปี
โดยผู้เชี่ยวชาญจากยูเอ็นคาดการณ์ว่า ผลผลิตข้าวของไทยในฤดูเก็บเกี่ยวที่เริ่มต้นตั้งแต่เดือนนี้อาจร่วงลงเหลือเพียง 7 ล้านตัน จากระดับ 8.4 ล้านตันในปีที่ผ่านมา ขณะที่ผลผลิตข้าวของเวียดนามในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวปลายปีอาจได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกัน
ปัญหาภัยแล้งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปรากฎการณ์เอลนีโญ่ได้ส่งผลกระทบต่อหลายประเทศในเอเชีย ไล่ตั้งแต่พื้นที่ตอนใต้ของจีนไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทำให้นายกรัฐมนตรีของไทยออกมาเตือนว่า ราคาข้าวอาจพุ่งสูงขึ้นหากผลผลิตข้าวลดน้อยลง โดยผลผลิตที่ตกต่ำในพื้นที่เพาะปลูกสำคัญที่สุดของเอเชียอาจส่งผลให้ตลาดโลกมีปริมาณสต็อกข้าวลดลง
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ขณะนี้ไทยเป็นประเทศเดียวที่ผลผลิตข้าวปรับตัวลดลง แต่ปัญหาดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดโลกมากนัก เพราะประเทศไทยมีสต็อกข้าวอยู่เป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ สัญญาซื้อขายข้าวในตลาดชิคาโกดิ่งลง 12% ในปีนี้ โดยสัญญาดังกล่าวเทรดกันที่ระดับ 13.09 ดอลลาร์ต่อ 100 ปอนด์เมื่อเวลา 10:43 น.ตามเวลาท้องถิ่นในสิงคโปร์ ขณะที่ราคาส่งออกข้าวเกรด B ของไทยร่วงลง 11% ในปีนี้ แตะที่ 527 ดอลลาร์ต่อตัน
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศในฟิลิปปินส์กล่าวว่า ราคาข้าวยังไม่มีทีท่าว่าจะร่วงลงจากระดับปัจจุบัน ขณะที่ปัญหาขาดแคลนน้ำอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าว ขณะที่ความต้องการที่สูงขึ้นอาจทำให้ปริมาณข้าวในสต็อกลดต่ำลง และนั่นจะกลายเป็นปัจจัยที่ช่วยพยุงราคาข้าวให้พุ่งสูงขึ้น
นอกจากนี้ สภาพอากาศที่แห้งแล้งอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตกาแฟในเวียดนาม รวมถึงผลผลิตน้ำมันปาล์มในมาเลเซียที่อาจลดลงราว 2-3%