ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX: ราคาน้ำมันดิบลดลงปิดต่ำกว่า 85 ดอลลาร์ เหตุวิตกอุปทานมากกว่าอุปสงค์

ข่าวต่างประเทศ Saturday April 10, 2010 09:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดลดลงเป็นวันที่ 3 ติดต่อกันเมื่อคืนนี้ (9 เม.ย.) มาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 85 ดอลลาร์ เพราะนักลงทุนวิตกว่าอุปทานพลังงานจะมีอยู่มากกว่าอุปสงค์ แม้ว่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับยูโรก็ตาม

ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์กล่าวว่า การที่สัญญาน้ำมันร่วงลงเป็นเพราะปัจจัยทางเทคนิคเช่นกัน หลังจากที่ราคาน้ำมันพุ่งเหนือระดับ 87 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อวันอังคาร โดยมีแนวโน้มว่า ราคาจะเริ่มปรับตัวลงมาอยู่ในช่วง 80 - 83 ดอลลาร์

สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนพ.ค.ลดลง 47 เซนต์ ปิดที่ 84.92 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 84.12 - 86.37 ดอลลาร์

ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนพ.ค.ลดลง 0.22 เซนต์ ปิดที่ 2.226 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินเดือนพ.ค. ลดลง 0.9 เซนต์ อยู่ที่ 2.2983 ดอลลาร์/แกลลอน

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนพ.ค.ขยับขึ้น 2 เซนต์ ปิดที่ 84.83 ดอลลาร์/บาร์เรล

ราคาน้ำมันยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องเมื่อวันศุกร์ แม้ว่าตลาดหุ้นเดินหน้าและเงินดอลลาร์ร่วงลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆก็ตาม ทั้งที่โดยปกติแล้ว ดอลลาร์ที่อ่อนตัวจะทำให้สินค้าโภคภัณฑ์มีความน่าดึงดูดใจมากขึ้นสำหรับนักลงทุน เนื่องจากทำให้นักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่นสามารถซื้อได้ในราคาที่ถูกลง

โดยเงินยูโรแข็งค่าขึ้น หลังจากที่มีข่าวว่า สหภาพยุโรปบรรลุตกลงเรื่องเงื่อนไขสำหรับการปล่อยเงินกู้ฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือกรีซในการแก้ปัญหาขาดดุลงบประมาณจำนวนมหาศาล

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นักลงทุนในตลาดพลังงานกำลังวิตกกังวลเรื่องอุปทาน หลังจากรัฐบาลสหรัฐเปิดเผยข้อมูลสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 10 เดือน ซึ่งบ่งชี้ว่าความต้องการพลังงานในสหรัฐยังคงหดตัวแม้มีข้อมูลระบุว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วนฟื้นตัวขึ้นแล้วก็ตาม

สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่สุดของโลก กำลังสำรองน้ำมันมากกว่าปกติ โดยแม้ว่าความต้องการน้ำมันเบนซินได้เพิ่มสูงขึ้น 2% ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ความต้องการปิโตรเลียมโดยรวม ซึ่งรวมถึงน้ำมันเครื่องบิน และ ดีเซลยังซบเซา โดยการใช้ปิโตรเลียมโดยเฉลี่ย 4 สัปดาห์ ลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน มาอยู่ที่เหนือระดับ 19 ล้านบาร์เรลต่อวันเพียงเล็กน้อย

ทั้งนี้ สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐ (อีไอเอ) ประกาศทบทวนตัวเลขดีมานด์น้ำมันดิบในสหรัฐประจำเดือนม.ค.ว่าปรับตัวลดลง 1.44 % ซึ่งมากกว่าการประเมินครั้งก่อน และระบุว่าปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐในเดือนม.ค.ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี

ขณะที่เมื่อวันพุธ กระทรวงพลังงานสหรัฐรายงานว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 2 เม.ย.พุ่งขึ้น 2.0 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 356.2 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.8 ล้านบาร์เรล

ส่วนสต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงเชื้อเพลิงดีเซลและฮีทติ้งออยล์ เพิ่มขึ้น 1.1 ล้านบาร์เรล แตะที่ 145.7 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 1.2 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินร่วงลง 2.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 222.4 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดว่าจะขยับลงเพียง 800,000 บาร์เรล ส่วนอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 1.9% แตะที่ 84.5%

จากนั้นในวันพฤหัสบดี กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่าจำนวนชาวอเมริกันที่ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกพุ่งขึ้น 18,000 คน แตะที่ระดับ 460,000 คนในรอบสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดกว่าจะอยู่ที่ระดับ 435,000 คน ข้อมูลดังกล่าวตอกย้ำว่าตลาดแรงงานของสหรัฐยังคงอยู่ในภาวะตึงตัว ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภครัดเข็มขัดและเลือกที่จะใช้จ่ายแต่ในสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ซึ่งอาจส่งผลสืบเนื่องให้ความต้องการเชื้อเพลิงลดน้อยลงด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ