ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX: วิตกปัญหาหนี้กรีซ-สต็อกน้ำมัน ฉุดน้ำมันดิบปิดร่วง 92 เซนต์

ข่าวต่างประเทศ Tuesday April 27, 2010 07:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (26 เม.ย.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้สินของกรีซ นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และการคาดการณ์ที่ว่าสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐจะเพิ่มขึ้น

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย.ร่วงลง 92 เซนต์ มาปิดที่ระดับ 84.20 ดอลลาร์/บาร์เรล

ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์เดือนพ.ค.ลดลง 1.34 เซนต์ ปิดที่ 2.2371 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินเดือนพ.ค.ร่วงลง 1.22 เซนต์ ปิดที่ 2.3409 ดอลลาร์/แกลลอน

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนมิ.ย.เพิ่มขึ้น 42 เซนต์ ปิดที่ 86.83 ดอลลาร์/แกลลอน

นักวิเคราะห์จากคอมเมิร์ซ แบงค์ กล่าวว่า นักลงทุนเทขายสัญญาน้ำมันดิบเนื่องจากความวิตกกังวลที่ว่ากรีซอาจได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และสหภาพยุโรป (อียู) ไม่มากพอ และอาจทำให้กรีซผิดนัดชำระหนี้ในที่สุด นอกจากนี้ การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐยังเป็นอีกปัจจัยที่กดดันสัญญาน้ำมันดิบร่วงลงด้วย

กระทรวงพลังงานสหรัฐจะเปิดเผยรายงานสต็อกน้ำมันประจำสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 23 เม.ย.ในวันพุธนี้ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า สต็อกน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้น 400,000 บาร์เรล สต็อกน้ำมันกลั่นจะพุ่งขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินจะเพิ่มขึ้น 500,000 บาร์เรล ส่วนอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันจะลดลง 0.3%

อย่างไรก็ตาม ภาวะการซื้อขายในตลาดยังคงคึกคัก เนื่องจากนักลงทุนขานรับข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ รวมถึงยอดขายบ้านใหม่เดือนมี.ค.พุ่งสูงขึ้น 27% แตะระดับ 411,000 ยูนิตต่อปี ซึ่งตัวเลขดังกล่าวดีดตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนก่อนหน้านี้ เพราะได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมี.ค.ที่ไม่นับรวมยอดสั่งซื้อสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมขนส่งขยายตัวสูงเกินคาดที่ระดับ 2.8% ซึ่งเป็นระดับการขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่สหรัฐเริ่มเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยในเดือนธ.ค.2550

นักลงทุนจับตาดูรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ รวมถึงข้อมูลราคาบ้านเดือนก.พ.,ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐเดือนเม.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาสแรกปี 2553


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ