ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX: น้ำมันดิบปิดร่วง $2.86 หลังดาวโจนส์ดิ่งหนัก

ข่าวต่างประเทศ Friday May 7, 2010 07:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือนเมื่อคืนนี้ (6 พ.ค.) เพราะได้รับปัจจัยลบจากดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ดิ่งลงอย่างหนัก เนื่องจากความกังวลที่ว่าปัญหาหนี้สินของกรีซจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งฉุดดีมานด์พลังงานให้หดตัวลงด้วย นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากรายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่ร่วงลงเกินคาดในรอบสัปดาห์ที่แล้ว

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย.ร่วงลง 2.86 ดอลลาร์ ปิดที่ 77.11 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.เป็นต้นมา

ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์เดือนมิ.ย.ดิ่งลง 7.08 เซนต์ ปิดที่ 2.1137 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนมิ.ย.ร่วงลง 2.78 ดอลลาร์ ปิดที่ 79.83 ดอลลาร์/บาร์เรล

ตลาดน้ำมันนิวยอร์กได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการที่นักลงทุนมีท่าทีตื่นตระหนกต่อการร่วงลงของดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์ก โดยในระหว่างวันนั้น ดาวโจนส์ดิ่งลง 998.5 จุด หรือ 9.19% สู่ระดับต่ำกว่า 10,000 จุด ซึ่งเป็นการร่วงลงในระหว่างวันที่หนักที่สุดเป็นประวัติการณ์ จากความกังวลที่ว่าปัญหาหนี้สาธารณะและยอดขาดดุลงบประมาณของกรีซจะลุกลามในวงกว้างและฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส เตือนว่า วิกฤตหนี้สินที่ถาโถมเข้าใส่กรีซอยู่ในเวลานี้อาจลุกลามจนส่งผลกระทบต่อระบบธนาคารของประเทศอื่นๆในภูมิภาค อาทิ โปรตุเส อิตาลี สเปน ไอร์แลนด์ และอังกฤษ นอกจากนี้ มูดีส์กล่าวว่า แม้ธนาคารในบางประเทศ อย่างโปรตุเกส และ อิตาลี สามารถเอาตัวรอดจากวิกฤตการเงินโลกมาได้โดยที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ธนาคารเหล่านี้อาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตการคลังครั้งล่าสุด หากสถานการณ์รุนแรงขึ้นนอกประเทศกรีซ

ส่วนสถานการณ์น้ำมันรั่วไหลในอ่าวเม็กซิโกนั้น เจ้าหน้าที่สหรัฐพยายามทำความสะอาดคราบน้ำมันให้ได้มากที่สุดถึง 85% หลังจากเกิดการระเบิดที่แท่นขุดเจาะน้ำมัน Deepwater Horizon ของบริษัทบีพีเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา จนทำให้แท่นขุดเจาะจมลง โดยจุดที่เกิดอยู่ห่างจากชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองนิวออลีนส์ประมาณ 130 ไมล์

นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันนิวยอร์กได้รับแรงกดดันหลังจากกระทรวงพลังงานสหรัฐรายงานว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 30 เม.ย.พุ่งขึ้น 2.8 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 360.8 ล้านบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าระดับเฉลี่ยของปีที่แล้วกว่า 5% และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.2 ล้านบาร์เรล

ขณะที่สต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 224.9 ล้านบาร์เรล สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 200,000 บาร์เรล และสต็อกน้ำมันกลั่นเพิ่มขึ้น 600,000 บาร์เรล สู่ระดับ 152.4 ล้านบาร์เรล น้อยกว่าที่คาดว่าจะพุ่งขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรล ส่วนอัตราการใช้กำลังการกลั่นอยู่ที่ระดับ 89.6% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้านั้นที่ระดับ 89%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ