ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX: วิตกปัญหาหนี้ยุโรป-ดีมานด์พลังงาน ฉุดน้ำมันดิบปิดลบ 43 เซนต์

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 12, 2010 06:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดลดลงเมื่อคืนนี้ (11 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเริ่มไม่มั่นใจว่ามาตรการให้ความช่วยเหลือกรีซของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และสหภาพยุโรป (อียู) จะสามารถยับยั้งวิกฤตการณ์การเงินในยุโรปได้ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่าสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐจะพุ่งขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงภาวะดีมานด์พลังงานหดตัว

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย.ลดลง 43 เซนต์ ปิดที่ 76.37 ดอลลาร์/บาร์เรล

ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์เดือนมิ.ย.เพิ่มขึ้น 1.99 เซนต์ ปิดที่ 2.1401 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินเดือนมิ.ย.เพิ่มขึ้น 1.26 เซนต์ ปิดที่ 2.1952 ดอลลาร์/แกลลอน

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนมิ.ย.เพิ่มขึ้น 37 เซนต์ ปิดที่ 80.49 ดอลลาร์/บาร์เรล

นักลงทุนเทขายสัญญาน้ำมันดิบเพราะเริ่มไม่มั่นใจว่ามาตรการเงินกู้ฉุกเฉินมูลค่าเกือบ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ของไอเอ็มเอฟ และอียูจะสามารถแก้ปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซและป้องกันไม่ให้ปัญหาดังกล่าวลุกลามไปทั่วยุโรปได้ ซึ่งความกังวลในเรื่องดังกล่าวได้ฉุดตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงด้วย

นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันนิวยอร์กยังได้รับแรงกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่าสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐจะเพิ่มขึ้น ซึ่งบ่งชี้ว่าดีมานด์พลังงานในสหรัฐยังคงซบเซา โดยในวันพุธนี้กระทรวงพลังงานสหรัฐจะเปิดเผยรายงานสต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 7 พ.ค. ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า สต็อกน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้น 1.6 ล้านบาร์เรล สต็อกน้ำมันกลั่นจะเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรล สต็อกน้ำมันเบนซินจะเพิ่มขึ้น 700,000 บาร์เรล และอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันจะลดลง 0.1%

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จากบีโอเอฟเอ เมอร์ริล ลินช์ โกลบอล รีเสิร์ช คาดว่า สัญญาน้ำมันดิบจะปรับตัวลงในกรอบที่จำกัด และมีแนวโน้มว่าสัญญาน้ำมันดิบจะกลับมายืนเหนือระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรลอีกครั้งในปีหน้า

กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) คาดการณ์ว่า ความต้องการน้ำมันดิบทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 1.1% ในปีนี้ สู่ระดับ 85.38 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ