สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (13 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังต่อตัวเลขว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐที่ปรับตัวลดลงน้อยกว่าคาด รวมทั้งสต็อกน้ำมันดิบรายสัปดาห์ที่พุ่งขึ้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทำให้นักลงทุนวิตกกังวลว่าตลาดแรงงานที่ยังคงตึงตัวอาจส่งผลให้ดีมานด์พลังงานในสหรัฐซบเซาลง นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันนิวยอร์กยังถูกกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย.ร่วงลง 1.25 ดอลลาร์ ปิดที่ 74.40 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 76.25 -74.40 ดอลลาร์
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์เดือนมิ.ย.ลดลง 2.72 เซนต์ ปิดที่ 2.1319 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินเดือนมิ.ย.ลดลง 1.53 เซนต์ ปิดที่ 2.1951 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนมิ.ย.ดิ่งลง 1.09 ดอลลาร์ ปิดที่ 80.51 ดอลลาร์/บาร์เรล
นักลงทุนเทขายสัญญาน้ำมันดิบหลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่แล้ว ปรับตัวลดลง 4,000 ราย มาอยู่ที่ระดับ 444,000 จุด แต่ยังลดลงน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 440,000 ราย
ตัวเลขว่างงานในรอบสัปดาห์ที่แล้วสอดคล้องกับที่กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในช่วงก่อนหน้านี้ว่า อัตราว่างงานเดือนเม.ย.ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 9.9% ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานของสหรัฐยังตึงตัวมาก และทำให้เจ้าหน้าที่สหรัฐกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ส่วนอีกปัจจัยที่ฉุดสัญญาน้ำมันดิบมาจากรายงานของกระทรวงพลังงานสหรัฐที่ระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 7 พ.ค. พุ่งขึ้น 1.9 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 362.5 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.3 ล้านบาร์เรล
สต็อกน้ำมันกลั่นเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 153.8 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.3 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินร่วงลง 2.8 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 222.1 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 700,000 บาร์เรล ส่วนอัตราการใช้ กำลังการกลั่นน้ำมันลดลง 1.2% สู่ระดับ 88.4%
สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ออกรายงานคาดการณ์ประจำเดือน โดย IEA ได้ปรับลดคาดการณ์ดีมานด์พลังงานทั่วโลกในปี 2553 ลงสู่ระดับ 86.4 ล้านบาร์เรล/วัน
นักลงทุนจับตาดูสถานการณ์น้ำมันรั่วในอ่าวเม็กซิโกที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการลำเลียงขนส่งน้ำมัน และล่าสุดมีรายงานว่า ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งหรัฐ เรียกร้องให้สภาคองเกรสผ่านงบประมาณฉุกเฉินอย่างน้อย 129 ล้านดอลลาร์ เพื่อแก้ปัญหาน้ำมันรั่วไหลในอ่าวเม็กซิโก