ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX: น้ำมันดิบปิดลบ 7 เซนต์ ขณะนักลงทุนวิตกดีมานด์พลังงานชะลอตัว

ข่าวต่างประเทศ Tuesday June 8, 2010 07:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดขยับลงเมื่อคืนนี้ (7 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลว่าวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะในยุโรป และตลาดจ้างงานในสหรัฐที่ยังเปราะบาง อาจส่งผลกระทบต่อดีมาน์ดพลังงานด้วย

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนก.ค.ขยับลง 7 เซนต์ หรือ 0.1% ปิดที่ 71.44 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 69.51 - 72.49 ดอลลาร์

ขณะที่สัญญาน้ำมันเบนซินเดือนก.ค.ลดลง 0.04 เซนต์ ปิดที่ 1.9949 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์เดือนก.ค.เพิ่มขึ้น 1.06 เซนต์ ปิดที่ 1.9683 ดอลลาร์/แกลลอน

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอนขยับขึ้น 3 เซนต์ หรือ 0.04% ปิดที่ 72.12 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 70.50 - 72.95 ดอลลาร์

นักลงทุนยังคงเทขายสัญญาน้ำมันดิบเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มลุกลามไปทั่วยุโรป รวมถึงฮังการี และตลาดแรงงานสหรัฐที่ยังอยู่ในภาวะที่เปราะบางมาก โดยโดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร (nonfarm payrolls) ในเดือนพ.ค.ปรับตัวเพิ่มขึ้น 431,000 ตำแหน่ง แต่ยังน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า จะพุ่งขึ้น 508,000 ตำแหน่ง และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากการจ้างพนักงานชั่วคราวของภาครัฐในส่วนงานสำมะโนประชากรจำนวน 411,000 ตำแหน่ง ซึ่งรัฐบาลกลางสหรัฐมียอดการจ้างพนักงานดังกล่าวสูงสุดในเดือนพ.ค. ซึ่งตัวเลขนี้จะเริ่มลดจำนวนลงในเดือนมิ.ย.

กระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ในยุโรปครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อนายมิฮาลี วาร์กา หัวหน้าคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฮังการี เปิดเผยว่า ฮังการีมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับวิกฤตหนี้สาธารณะเช่นเดียวกับกรีซ ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลฮังการีออกมาแก้ข่าวด้วยการยืนยันว่า ฮังการีไม่มีความเสี่ยงเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ แต่ตลาดหุ้นและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกยังคงถูกกดดันจากความกังวลในเรื่องนี้

กระทรวงพลังงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขสต็อกน้ำมันประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 มิ.ย.ในวันพุธนี้ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าสต็อกน้ำมันดิบจะลดลง 900,000 บาร์เรล สต็อกน้ำมันกลั่นจะเพิ่มขึ้น 600,000 บาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินจะเพิ่มขึ้น 100,000 บาร์เรล ส่วนอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันมีแนวโน้มทรงตัว

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดการณ์ว่า สายการบินทั่วโลกจะทำกำไรได้ 2.5 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ จากเดิมที่คาดการณ์เมื่อเดือนมีนาคมว่า ธุรกิจการบินโลกจะขาดทุน 2.8 พันล้านในปี 2553 ซึ่งหากเป็นไปตามที่ IATA คาดการณ์ ก็จะถือเป็นปีแรกนับตั้งแต่ปี 2550 ที่อุตสาหกรรมการบินโลกสามารถทำกำไรได้

นอกจากนี้ IATA ยังคาดการณ์ด้วยว่า ปริมาณการเดินทางทางอากาศ (Passenger Traffic) จะขยายตัว 7.1% ในปี 2553 และปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศ (Cargo Traffic) จะขยายตัวถึง 18.5% ซึ่งดีกว่าการคาดการณ์ในครั้งก่อนที่ 5.6% และ 12% ตามลำดับ ส่วนต้นทุนเชื้อเพลิงจะคิดเป็น 26% ของต้นทุนการดำเนินงานในปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 23% ในปี 2552


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ