สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงต่ำกว่าระดับ 77 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อคืนนี้ (17 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังต่อข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานที่พุ่งขึ้นสวนทางกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และดัชนีภาคการผลิตในเขตฟิลาเดลเฟียที่ร่วงลงอย่างหนัก รวมทั้งรายงานสต็อกน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้นเกินคาดในรอบสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาอาจฉุดดีมานด์พลังงานหดตัวลงด้วย
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) เดือนก.ค.ร่วงลง 88 เซนต์ ปิดที่ระดับ 76.79 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 77.20 - 76.79 ดอลลาร์
สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์เดือนก.ค.เพิ่มขึ้น 3.73 เซนต์ ปิดที่ 2.1474 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินเดือนก.ค.เพิ่มขึ้น 1.88 เซนต์ ปิดที่ 2.1640 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 54 เซนต์ ปิดที่ 78.68 ดอลลาร์/บาร์เรล
นักวิเคราะห์จากคอมเมิร์ซแบงค์ กล่าวว่า สัญญาน้ำมันดิบร่วงลงอันเนื่องมาจากหลายปัจจัย รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าผิดหวัง ทั้งตัวเลขว่างงานรายสัปดาห์และข้อมูลภาคการผลิตที่อ่อนแอในเขตฟิลาเดลเฟีย นอกจากนี้ รายงานสต็อกน้ำมันดิบที่ร่วงลงในรอบสัปดาห์ที่แล้วยังสะท้อนให้เห็นถึงดีมานด์พลังงานที่ซบเซาลงด้วย
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 12 มิ.ย. พุ่งขึ้น 12,000 ราย สู่ระดับ 472,000 ราย สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 450,000 ราย จากสัปดาห์ก่อนหน้านั้น เนื่องจากอุตสาหกรรมภาคการผลิต การก่อสร้าง และการศึกษา พากันลดอัตราการจ้างงาน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลว่าจำนวนคนว่างงานที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจด้วย
ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟียเปิดเผยว่า ดัชนีกิจกรรมการผลิตในเขตฟิลาเดลเฟียประจำเดือนพ.ค.ร่วงลงสู่ระดับ 8 จุด จากเดือนเม.ย.ที่ระดับ 21.4 จุด ซึ่งบ่งชี้ว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในเขตฟิลาเดลเฟียซึ่งเป็นหนึ่งในเขตอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งที่สุดของสหรัฐ ยังคงอ่อนแอ
นอกจากนี้ สำนักงานสารนิเทศด้านพลังงานในสังกัดกระทรวงพลังงานสหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 11 มิ.ย. พุ่งขึ้น 1.7 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะลดลง 1.4 ล้านบาร์เรล
ขณะที่สต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 700,000 บาร์เรล ตรงข้ามกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 500,000 บาร์เรล และสต็อกน้ำมันกลั่นเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นพียง 800,000 บาร์เรล ส่วนอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันลดลง 1.2% เหลือเพียง 87.9%