สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดขยับขึ้นเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ (24 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อเก็งกำไรหลังจากสัญญาดิ่งลงเมื่อ 2 วันทำการที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ภาวะการซื้อขายในตลาดค่อนข้างซบเซา เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงวิตกกังวลว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างล่าช้าในสหรัฐ อาจส่งผลให้ดีมานด์พลังงานลดน้อยลงด้วย นอกจากนี้ รายงานสต็อกน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้นเหนือความคาดหมายและยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนที่ร่วงลงของสหรัฐ ยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้บรรยากาศการซื้อขายผันผวน
สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค.ขยับขึ้น 16 เซนต์ ปิดที่ 76.51 ดอลลาร์/บาร์เรล
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์เดือนส.ค.ลดลง 1.12 เซนต์ ปิดที่ 2.0572 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนส.ค.เพิ่มขึ้น 1.12 เซนต์ ปิดที่ 2.0935 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนส.ค.เพิ่มขึ้น 20 เซนต์ ปิดที่ 76.47 ดอลลาร์/บาร์เรล
ภาวะการซื้อขายในตลาดน้ำมันนิวยอร์กผันผวนตลอดทั้งวัน หลังจากสำนักงานสารนิเทศด้านพลังงาน (EIA) ในสังกัดกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 18 มิ.ย. พุ่งขึ้น 2 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะลดลง 1.3 ล้านบาร์เรล
สต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 800,000 บาร์เรล มากกว่าที่คาดว่าจะลดลงเพียง 100,000 บาร์เรล และสต็อกน้ำมันกลั่นซึ่งรวมถึงเชื้อเพลิงดีเซลและฮีทติ้งออยล์ เพิ่มขึ้น 300,000 บาร์เรล น้อยกว่าที่คาดว่าจะพุ่งขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรล
ข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ รวมถึงยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ทำให้นักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างล่าช้าอาจส่งผลให้ดีมานด์พลังงานซบเซาลงด้วย โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนพ.ค.ร่วงลง 1.1% มาอยู่ที่ระดับ 1.92 แสนล้านดอลลาร์
ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 19 มิ.ย.ลดลงเพียง 19,000 ราย สู่ระดับ 457,000 ราย ซึ่งแม้ว่าตัวเลขดังกล่าวปรับตัวลดลง แต่จำนวนคนว่างงานยังนับว่าอยู่ในระดับที่สูงมาก
นอกจากนี้ นักลงทุนยังขาดความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ เมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ปรับลดมุมมองเศรษฐกิจในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยเฟดระบุว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ 'ยังคงดำเนินต่อไป' ขณะที่ตลาดแรงงานค่อยๆปรับตัวดีขึ้นและตัวเลขการใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ก็ถูกจำกัดด้วยอัตราว่างงานที่อยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ เฟดระบุว่าวิกฤตหนี้สาธารณะของยุโรปส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นด้วย