สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กทะยานขึ้นปิดเหนือระดับ 78 ดอลลาร์ เมื่อคืนนี้ (25 มิ.ย.) เนื่องจากความวิตกกังวลว่า พายุลูกแรกในฤดูเฮอริเคนที่กำลังเคลื่อนตัวเข้าใกล้บริเวณอ่าวเม็กซิโกซึ่งมีแท่นขุดเจาะน้ำมันและโรงกลั่นหลายแห่งตั้งอยู่นั้น อาจส่งผลให้อุปทานพลังงานตึงตัวได้ นอกจากนั้น ตลาดน้ำมันยังได้รับปัจจัยหนุนจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าด้วย
สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค.พุ่งขึ้น 2.35 ดอลลาร์ หรือ 3.07% ปิดที่ 78.86 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดในรอบ 7 สัปดาห์ หรือตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์เดือนก.ค.เพิ่มขึ้น 5.5 เซนต์ ปิดที่ 2.1122 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนก.ค.เพิ่มขึ้น 7.43 เซนต์ ปิดที่ 2.1678 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนส.ค.เพิ่มขึ้น 1.65 ดอลลาร์ ปิดที่ 78.12 ดอลลาร์/บาร์เรล
ราคาน้ำมันไต่ขึ้นหลังศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติรายงานว่า มีโอกาสสูงถึง 80% ที่ความกดอากาศต่ำบริเวณนอกชายฝั่งฮอนดูรัสและแกรนด์ เคย์แมนในแคริบเบียน จะพัฒนากลายเป็นไซโคลนเขตร้อนในสุดสัปดาห์นี้ และอาจเคลื่อนตัวมุ่งหน้าสู่อ่าวเม็กซิโก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการผลิตน้ำมันในสัดส่วนราว 31% หรือ 1.69 ล้านบาร์เรลต่อวัน ของการผลิตน้ำมันทั้งหมดของสหรัฐ
ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติของสหรัฐรายงานว่า พายุลูกแรกที่ก่อตัวขึ้นในทะเลแคริบเบียนกำลังเคลื่อนตัวไปทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของอ่าวเม็กซิโกด้วยความเร็ว 10 ไมล์ต่อชั่วโมง ทำให้เกิดฝนตกหนักในสาธารณรัฐโดมินิกัน เฮติ จาไมก้า และคิวบา
นักอุตุนิยมวิทยาหลายคนคาดว่า ฤดูพายุเฮอริเคนปีนี้ ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนไปจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน อาจเป็นปีที่มีพายุเฮอริเคนก่อตัวขึ้นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์
ด้านสำนักงานสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐ (NOAA) คาดว่า ฤดูพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกปีนี้จะมีพายุราว 14-23 ลูกที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงจนกลายเป็นเฮอริเคน และคาดว่าจะมีพายุเฮอริเคนก่อตัวขึ้นมากที่สุดในรอบ 5 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งเป็นปีที่พายุเฮอริเคนแคทรินา และริต้า กระหน่ำชายฝั่งสหรัฐจนส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการผลิตน้ำมัน
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานประมาณการว่า ฤดูพายุในปีนี้อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกราว 26 ล้านบาร์เรล
ขณะเดียวกัน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเป็นวันที่สามเมื่อเทียบกับตระกร้าสกุลเงินหลักทั้งหกสกุล ซึ่งเงินดอลลาร์ที่อ่อนลงทำให้สินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งซื้อขายกันในสกุลดอลลาร์ มีราคาที่น่าดึงดูดในในสายตาของผู้ซื้อที่ถือเงินสกุลอื่น