ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX: วิตกแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ฉุดน้ำมันดิบปิดร่วง $2.68

ข่าวต่างประเทศ Friday July 2, 2010 07:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์เมื่อคืนนี้ (1 ก.ค.) และเป็นการปิดลบติดต่อกัน 3 วันทำการ เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐและจีนทำให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและดีมานด์พลังงาน นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันนิวยอร์กยังถูกกดดันจากรายงานสต็อกน้ำมันเบนซินที่พุ่งขึ้นเหนือความคาดหมาย ซึ่งบ่งชี้ถึงดีมานด์พลังงานที่อ่อนแอในสหรัฐ

สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค.ร่วงลง 2.68 ดอลลาร์ หรือ 3.54% ปิดที่ 72.95 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 72.25 - 72.25 ดอลลาร์

ขณะที่สัญญาน้ำมันเบนซินเดือนส.ค.ร่วงลง 6.28 เซนต์ ปิดที่ 1.9976 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์เดือนส.ค.ลดลง 7.58 เซนต์ ปิดที่ 1.9385 ดอลลาร์/แกลลอน

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนส.ค.ร่วงลง 2.68 ดอลลาร์ ปิดที่ 72.95 ดอลลาร์/บาร์เรล

นักลงทุนยังคงกระหน่ำขายสัญญาน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สัญญาน้ำมันเดือนก.ค.ดิ่งลงไปแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์เมื่อวานนี้ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากจีนและสหรัฐรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอ โดยสมาพันธ์ลอจิสติกและการจัดซื้อแห่งชาติของจีนรายงานเมื่อวานนี้ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของภาคการผลิตในประเทศจีน อยู่ที่ระดับ 52.1 จุดในเดือนมิ.ย. ลดลง 1.8% จากเดือนพ.ค. และน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 53.2 จุด แม้ดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนเคลื่อนไหวอยู่เหนือระดับ 50 จุดเป็นเวลา 16 เดือนติดต่อกัน แต่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนมิ.ย.เคลื่อนไหวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้นั้น บ่งชี้ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนมาถึงจุดสูงสุดแล้ว และมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ตลาดหุ้นและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกดิ่งลงถ้วนหน้า หลังจากสำนักงานคอนเฟอเรนซ์ บอร์ด ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยเอกชนของสหรัฐ ปรับลดการประมาณการดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนเม.ย.ของจีนว่า ขยับตัวขึ้นเพียง 0.3% ซึ่งเป็นระดับที่เพิ่มขึ้นน้อยที่สุดในรอบ 5 เดือน จากเดิมที่ประเมินว่าขยายตัว 1.7%

นอกเหนือจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของจีนแล้ว ตลาดน้ำมันนิวยอร์กยังถูกกดดันจากรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของสหรัฐด้วย โดยเมื่อคืนนี้กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่แล้ว เพิ่มขึ้น 13,000 ราย สู่ระดับ 472,000 ราย สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 452,000 ราย และเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งบ่งชี้ว่าผู้ประกอบการยังคงเลย์ออฟพนักงานมากขึ้น

ขณะที่สมาคมนายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) รายงานว่า ดัชนีการทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนพ.ค.ร่วงลงสู่ระดับ 77.6 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 9 ปี และร่วงลง 15.9% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.ปีที่แล้ว ส่วนดัชนีการทำสัญญาซื้อบ้านในเดือนเม.ย.ปีนี้อยู่ที่ระดับ 110.9 จุด

นอกจากนี้ สำนักงานจัดการด้านอุปทาน (ISM) ของสหรัฐรายงานว่า ดัชนีภาคการผลิตเดือนมิ.ย.ร่วงลงสู่ระดับ 56.2 จุด จากเดือนพ.ค.ที่ระดับ 59.7 จุด

กระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับดีมานด์พลังงานในสหรัฐเพิ่มมากขึ้นเมื่อสำนักงานสารนิเทศด้านพลังงาน (EIA) ในสังกัดกระทรวงแรงงานสหรัฐ รายงานเมื่อคืนนี้ว่า สต็อกน้ำมันเบนซินในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 25 มิ.ย.พุ่งขึ้น 537,000 บาร์เรล สู่ระดับ 218.1 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 400,000 บาร์เรล

ขณะที่สต็อกน้ำมันกลั่นซึ่งรวมถึงเชื้อเพลิงดีเซลและน้ำมันฮีทติ้งออยล์ พุ่งขึ้น 2.5 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 900,000 บาร์เรล

นักลงทุนจับตาดูพายุ "อเล็กซ์" หลังจากศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติของสหรัฐรายงานว่า พายุอเล็กซ์ ซึ่งเป็นเฮอริเคนลูกแรกในมหาสมุทรแอตแลนติกปีนี้ ได้พัดขึ้นฝั่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเม็กซิโกแล้ว ในช่วงค่ำวันพุธตามเวลาท้องถิ่น และระบุว่า อเล็กซ์ได้ทวีความแรงเป็นพายุเฮอริเคนระดับ 2 แล้ว ด้วยแรงลม 105 ไมล์ต่อชั่วโมง ก่อนที่จะพัดขึ้นฝั่ง

นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (nonfarm payroll) เดือนมิ.ย.ของสหรัฐ ซึ่งกระทรวงแรงงานจะเปิดเผยในวันศุกร์นี้ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าตัวเลขจ้างงานเดือนมิ.ย.จะร่วง 110,000 ตำแหน่ง เนื่องจากการจ้างพนักงานชั่วคราวของภาครัฐในส่วนของงานสำมะโนประชากรนั้น มีแนวโน้มปรับตัวลดลง และคาดว่าอัตราว่างงานเดือนมิ.ย.จะอยู่ที่ระดับ 9.7%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ