ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX: น้ำมันดิบปิดลบ 16 เซนต์ หลังสหรัฐเผยภาคบริการขยายตัวช้าลง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 7, 2010 07:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (6 ก.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยว่าภาคบริการขยายตัวในอัตราที่ช้าลงในเดือนมิ.ย. ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่าภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอาจส่งผลกระทบต่อดีมานด์พลังงานด้วย นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาดูความเคลื่อนไหวของพายุเฮอริเคน หลังจากมีการพยากรณ์ว่าฤดูพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกปีนี้ จะเป็นปีที่มีพายุเฮอริเคนก่อตัวขึ้นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์

สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค.ปรับตัวลง 16 เซนต์ ปิดที่ 71.98 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากพุ่งขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในระหว่างวันที่ 73.86 ดอลลาร์/บาร์เรล

ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออย์เดือนส.ค.เพิ่มขึ้น 0.17 เซนต์ ปิดที่ 1.9172 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินเดือนส.ค.ลดลง 0.64 เซนต์ ปิดที่ 1.9713 ดอลลาร์/แกลลอน

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนส.ค.ลดลง 2 เซนต์ ปิดที่ 71.45 ดอลลาร์/บาร์เรล

ตลาดน้ำมัน NYMEX ถูกกดดันจากความวิตกกังวลที่ว่าภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาอาจฉุดดีมานด์พลังงานหดตัวลงด้วย หลังจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) รายงานว่า ภาคบริการเดือนมิ.ย.ของสหรัฐขยายตัวในอัตราที่ช้าลง ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าภาคบริการอาจจะชะลอตัวลงอีกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ทั้งนี้ ดัชนีภาคบริการและกิจกรรมทางธุรกิจเดือนมิ.ย.ขยายตัวที่ระดับ 53.8 จุด ซึ่งแม้ว่าดัชนีที่เคลื่อนไหวเหนือระดับ 50 จุดจะบ่งชี้ว่าภาคบริการยังคงมีการขยายตัว แต่ดัชนีเดือนมิ.ย.ขยายตัวในอัตรที่ช้าลงเมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.ที่มีการขยายตัว 55.4 จุด และต่ำกว่าระดับสูงสุดที่ 67.7 จุดของเมื่อปี 2547 อีกทั้งยังขยายตัวน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ที่ 55.0 จุด

นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกกังวลว่า เศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรงในช่วงปลายปีนี้ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สหรัฐรายงานว่าตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร (nonfarm payrolls) ในเดือนมิ.ย. ปรับตัวลดลง 125,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 6 เดือน และแย่กว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะลดลง 110,000 ตำแหน่ง

ขณะที่มาร์กิต อิโคโนมิคส์ (Markit Economics) ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจความคิดเห็นที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของภาคบริการและภาคการผลิตในยุโรป ร่วงลงสู่ระดับ 56 จุดในเดือนมิ.ย. จากเดือนพ.ค.ที่ระดับ 56.4 จุด ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทำให้นักลงทุนกังวลว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในยุโรปอาจเป็นไปอย่างล่าช้า

นักวิเคราะห์จากบาร์เคลย์ส แคปิตอล ได้ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันลง แม้ดีมานด์พลังงานในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ยังคงแข็งแกร่งก็ตาม โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบโดยเฉลี่ยในไตรมาส 4 จะอยู่ที่ 87 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 92 ดอลลาร์/บาร์เรล และยังได้ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันสำหรับปี 2554 ลงสู่ระดับ 92 ดอลลาร์/บาร์เรล จากเดิม 97 ดอลลาร์/บาร์เรล

นักลงทุนจับตาดูความเคลื่อนไหวของพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกปีนี้ หลังจากนักอุตุนิยมวิทยาหลายคนคาดว่า ฤดูพายุเฮอริเคนปีนี้ ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ไปจนถึงวันที่ 30 พ.ย. อาจเป็นปีที่มีพายุเฮอริเคนก่อตัวขึ้นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดย AccuWeather Inc คาดว่า จะมีพายุที่เคลื่อนตัวอยู่ในอ่าวเม็กซิโกอย่างน้อย 3 ลูก

ขณะที่สำนักงานสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐ (NOAA) คาดว่า ฤดูพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกปีนี้ จะมีพายุราว 14-23 ลูกมีแนวโน้มทวีความรุนแรงจนกลายเป็นเฮอริเคน และคาดว่าจะมีพายุเฮอริเคนก่อตัวขึ้นมากที่สุดในรอบ 5 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งเป็นปีที่พายุเฮอริเคนแคทรินา และริต้า กระหน่ำชายฝั่งสหรัฐจนส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการผลิตน้ำมัน

กระทรวงพลังงานสหรัฐระบุว่า ภูมิภาคกัลฟ์โคสต์เป็นแห่งผลิตน้ำมันที่มีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณการผลิตน้ำมันในสหรัฐ โดยในช่วงเดือนส.ค. - ก.ย.ปี 2551 โรงกลั่นน้ำมันในกัลฟ์โคสต์ต้องสูญเสียมูลค่าการผลิตน้ำมันต่อวันประมาณ 20% เพราะถูกกระทบอย่างหนักจากพายุเฮอริเคนไอค์และกุสตาฟ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ