สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเหนือระดับ 75 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อคืนนี้ (8 ก.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบที่ร่วงลงเกินคาด ซึ่งบ่งชี้ว่าดีมานด์พลังงานในสหรัฐยังสดใส นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากตัวเลขว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐที่ร่วงลงเกินคาด และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก
สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) เดือนส.ค.พุ่งขึ้น 1.37 ดอลลาร์ หรือ 1.85% ปิดที่ 75.44 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูง สุดนับตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 74.38 - 75.90 ดอลลาร์
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์เดือนส.ค.เพิ่มขึ้น 2.66 เซนต์ ปิดที่ 2.0053 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินเดือนส.ค.เพิ่มขึ้น 2.58 เซนต์ ปิดที่ 2.0511 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอนส่งมอบเดือนส.ค.พุ่งขึ้น 1.20 ดอลลาร์ ปิดที่ 74.71 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจาก
สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX ทะยานขึ้นทันทีหลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐ (EIA) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงานสหรัฐ เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 2 ก.ค.ร่วงลง 4.96 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 358.2 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะลดลงเพียง 2.6 ล้านบาร์เรล
ขณะที่สต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 1.32 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 219.44 ล้านบาร์เรล ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยับขึ้นเพียง 300,000 บาร์เรล และสต็อกน้ำมันกลั่นเพิ่มขึ้น 321,000 บาร์เรล แตะระดับ 159.7 ล้านบาร์เรล น้อยกว่าที่คาดว่าจะพุ่งขึ้น 1.5 ล้านบาร์เรล ส่วนอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 1.4% แตะระดับ 89.8% สวนทางกับที่คาดว่าจะทรงตัวที่ 88.4%
ตลาดยังได้แรงหนุนจากรายงานที่ว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ขอรับสวัสดิการว่างงานในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 3 ก.ค. ลดลง 21,000 ราย มาอยู่ที่ระดับ 454,000 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นเดือนพ.ค.เป็นต้นมา และมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 460,000 ราย ส่วนจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานเฉลี่ย 4 เดือน ลดลง 1,250 ราย มาอยู่ที่ระดับ 466,000 ราย ซึ่งบ่งชี้ว่าอัตราการเลย์ออฟพนักงานในสหรัฐกำลังปรับตัวลดลง
นอกจากนี้ ตลาดน้ำมัน NYMEX ยังได้ปัจจัยบวกหลังจากไอเอ็มเอฟปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ขึ้นเป็น 4.5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวเพียง 4.1% ขณะเดียวกัน ไอเอ็มเอฟได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐเป็น 3.3% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 2.7% ส่วนแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจยุโรปที่ใช้สกุลเงินยูโร ยังคงทรงตัวที่ระดับ 1%
นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟยังได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียเป็น 7.5% จากเดิม 7% โดยได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนเป็น 10.5% จากเดิม 10% ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่นเป็น 2.4% จากเดิม 1.9% และปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจอินเดียเป็น 9.4% จากเดิม 8.8%