ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX: น้ำมันดิบปิดร่วง 51 เซนต์ หลังสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐพุ่งเกินคาด

ข่าวต่างประเทศ Thursday July 29, 2010 07:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กร่วงลงต่ำกว่าระดับ 77 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อคืนนี้ (28 ก.ค.) หลังจากทางการสหรัฐรายงานสต็อกน้ำมันดิบที่ร่วงลงอย่างเหนือความคาดหมาย และรายงานยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนที่ร่วงลงอย่างหนัก ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทำให้นักลงทุนวิตกกังวลว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างล่าช้าอาจส่งผลให้ดีมานด์พลังงานซบเซาลงด้วย

สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนก.ย.ร่วงลง 51 เซนต์ หรือ 0.66% ปิดตลาดที่ 76.99 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 75.90 - 77.74 ดอลลาร์

ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์เดือนก.ย.ลดลง 0.3 เซนต์ ปิดที่ 1.9964 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินเดือนก.ย.ลดลง 0.02 เซนต์ ปิดที่ 2.0634 ดอลลาร์/แกลลอน

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนก.ย.ลดลง 7 เซนต์ แตะระดับ 76.06 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 74.80 - 76.40 ดอลลาร์

สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX ร่วงลงหลังจากทางการสหรัฐรายงานสต็อกน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้นอย่างเหนือความคาดหมาย และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนที่ร่วงลงอย่างหนักในเดือนมิ.ย. ประกอบกับรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ตอกย้ำว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐเป็นไปอย่างล่าช้า ซึ่งทำให้นักลงทุนวิตกกังวลว่าจะส่งผลให้ดีมานด์พลังงานหดตัวลงด้วย

กระทรวงพลังงานสหรัฐ เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 23 ก.ค. พุ่งขึ้น 7.3 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 360.8 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะลดลง 1.8 ล้านบาร์เรล

ขณะที่สต็อกน้ำมันกลั่นเพิ่มขึ้น 0.9 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 167.5 ล้านบาร์เรล แต่ยังน้อยว่าที่คาดว่าจะพุ่งขึ้น 1.6 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.1 ล้านบาร์เรล แตะที่ 222.2 ล้านบาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 600,000 บาร์เรล ส่วนอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันลดลง 0.9% เหลือเพียง 90.6% มากกว่าที่คาดว่าจะลดลงเพียง 0.5%

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนประจำเดือนมิ.ย.ร่วงลง 1.0% สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.0% และเป็นการปรับตัวลงติดต่อกัน 2 เดือน โดยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน หรือสินค้าที่มีอายุการใช้งานนานกว่า 3 ปี เป็นดัชนีวัดสถานะความแข็งแกร่งของภาคการผลิตซึ่งถือเป็น 1 ในแรงขับเคลื่อนหลักของระบบเศรษฐกิจสหรัฐ

นักลงทุนวิตกกังวลมากขึ้นเมื่อเฟดออกรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของเฟดทั้ง 12 เขต หรือ Beige Book ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐเป็นไปอย่างล่าช้า โดยในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจในเขตคลิฟแลนด์ และแคนซัส ซิตี้ ค่อนข้างทรงตัว ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจในแอตแลนต้าและชิคาโก ชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ

สำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดว่า จีนอาจจำเป็นต้องใช้พลังงานมากขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งถือว่าเป็นสถานการณ์ที่สมเหตุสมผล พร้อมกับระบุว่าปริมาณการใช้พลังงานของจีนในปี 2552 อยู่ที่ 2.252 พันล้านตัน สูงกว่าปริมาณการใช้พลังงานของสหรัฐที่ระดับ 2.17 พันล้านตันอยู่ราว 0.4%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ