ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX: วิตกเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ฉุดน้ำมันดิบปิดร่วง $2.28

ข่าวต่างประเทศ Friday August 13, 2010 07:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงอย่างหนักเมื่อคืนนี้ (12 ส.ค.) ซึ่งเป็นการปิดลบติดต่อกัน 3 วันทำการ เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลต่อข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอทั่วโลก รวมถึงผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวลงในจีนและอินเดีย และตัวเลขว่างงานรายสัปดาห์ในสหรัฐที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 6 เดือน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า เศรษฐกิจโลกที่ซบเซาอาจฉุดดีมานด์พลังงานชะลอตัวลงด้วย

สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนก.ย.ร่วงลง 2.28 ดอลลาร์ ปิดที่ 75.74 ดอลลาร์

ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนก.ย.ลดลง 7.37 เซนต์ ปิดที่ 2.0015 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนก.ย.ลดลง 4.28 เซนต์ ปิดที่ 1.9548 ดอลลาร์/แกลลอน

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนก.ย.ดิ่งลง 2.12 ดอลลาร์ ปิดที่ 75.52 ดอลลาร์/บาร์เรล

ข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอทั่วโลกส่งผลให้นักลงทุนเทขายสัญญาน้ำมันดิบอย่างหนัก รวมถึงผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในจีนและอินเดีย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติอินเดียเปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย.ภายในประเทศ ซึ่งรวมถึงผลผลิตจากโรงงาน ผลผลิตด้านสาธารณูปโภค และผลผลิตในเหมืองแร่ ขยายตัว 7.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.ที่ขยายตัวแข็งแกร่ง 11.3% และยังเป็นสถิติที่ขยายตัวช้าที่สุดในรอบ 13 เดือน

ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) รายงานว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ค.ขยายตัว 13.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนมิ.ย.ที่ขยายตัว 13.7%

นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันนิวยอร์กยังถูกกดดันจากรายงานของกระทรวงแรงงานสหรัฐที่ระบุว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 7 ส.ค.เพิ่มขึ้น 2,000 ราย สู่ระดับ 484,000 ราย ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 6 เดือน สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 465,000 ราย จากสัปดาห์ก่อนหน้านั้นที่ระดับ 479,000 ราย ซึ่งเป็นหลักฐานล่าสุดที่บ่งชี้ว่าภาคเอกชนของสหรัฐยังคงลดการจ้างงาน

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนคาดว่า ราคาน้ำมันอาจจะดีดตัวขึ้นในอีกไม่กี่วันข้าวงหน้า อันเนื่องมาจากปัจจัยสภาพอากาศและพายุเฮอริเคนที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก รวมทั้งความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ