สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (23 ส.ค.) เนื่องจากความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและสหรัฐส่งผลให้นักลงทุนเทขายสัญญาน้ำมันดิบ นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่าสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐจะเพิ่มขึ้นและสกุลเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ
สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนต.ค.ร่วงลง 72 เซนต์ หรือ 0.98% ปิดที่ 73.10 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 72.75 - 74.48 ดอลลาร์
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนก.ย.ลดลง 1.56 เซนต์ ปิดที่ 1.9554 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนก.ย.ลดลง 4.41 เซนต์ ปิดที่ 1.8810 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนต.ค.ดิ่งลง 64 เซนต์ ปิดที่ 73.62 ดอลลาร์/บาร์เรล
นักวิเคราะห์จากบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงานรายใหญ่ในสหรัฐกล่าวว่า ในช่วงเช้านั้นสัญญาน้ำมันดิบทะยานขึ้นไปยืนอยู่ที่ระดับ 74.88 ดอลลาร์ หลังจากศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติสหรัฐรายงานว่า พายุโซนร้อนดาเนียลได้ทวีความรุนแรงขึ้นในมหาสมุทรแอตแลนติก แต่สัญญาน้ำมันถอยร่นลงจากระดับดังกล่าว เมื่อศูนย์เฮอริเคนฯระบุว่า อิทธิพลของพายุดาเนียลไม่รุนแรงพอที่จะส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันและแก๊สในอ่าวเม็กซิโก
ตลาดน้ำมันนิวยอร์กได้รับแรงกดดันจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ และหลังจากมาร์กิต อิโคโนมิคส์ (Markit Economics) ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจความคิดเห็นที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของภาคบริการและภาคการผลิตในยุโรปประจำเดือนก.ค.หดตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 56.1 จุด จากเดือนมิ.ย.ที่ระดับ 56.7 จุด บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มชะลอตัวลง
ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโก เปิดเผยว่า ดัชนีกิจกรรมทางเศรษฐกิจประจำเดือนก.ค.กระเตื้องขึ้นสู่ระดับ 0 จุด จากเดือนมิ.ย.ที่ระดับ -0.70 จุด
นักลงทุนจับตาดูรายงานสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ซึ่งสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐจะ เปิดเผยในวันพุธนี้ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า สต็อกน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้น 800,000 บาร์เรล สต็อกน้ำมันกลั่นจะเพิ่มขึ้น 1.0 ล้านบาร์เรล สต็อกน้ำมันเบนซินจะลดลง 200,000 บาร์เรล ส่วนอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันจะลดลง 0.3%
นอกจากนี้ นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ รวมถึงยอดขายบ้านมือสองเดือนก.ค. ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.ค.จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2 ปี 2553