อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียกำลังได้รับผลกระทบจากแผนระงับการเปลี่ยนแปลงสภาพป่าของรัฐบาล รวมถึงการที่บริษัทต่างชาติหลายแห่งหยุดซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากอินโดนีเซีย หลังกรีนพีซรณรงค์ให้หยุดใช้น้ำมันปาล์ม เนื่องจากการทำลายป่าเพื่อขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
นโยบายระงับการเปลี่ยนแปลงสภาพป่าที่ระบุในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) ระหว่างอินโดนีเซียกับนอร์เวย์ จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มอินโดนีเซีย เนื่องจากหากนโยบายดังกล่าวมีผลบังคับใช้จะทำให้อินโดนีเซียไม่มีพื้นที่สำหรับขยายการเพาะปลูก ส่งผลให้ผลผลิตลดลง และสั่นคลอนสถานะผู้ผลิตน้ำมันปาล์มดิบรายใหญ่ที่สุดของโลกในที่สุด
นอกจากนั้นแล้ว สัดส่วนการปลูกปาล์ม 40% ของทั้งประเทศยังเป็นของประชาชนทั่วไป ซึ่งหมายความประชาชนกว่า 10 ล้านคนหรือราว 2.8 ล้านครัวเรือนซึ่งปลูกปาล์มขายจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากนโยบายดังกล่าวแล้ว อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มอินโดนีเซียยังได้รับผลกระทบจากการที่ เบอร์เกอร์ คิง ตัดสินใจหยุดซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากบริษัท พีที ซีนาร์ มาส อะโกร แอนด์ รีซอร์สเซส เทคโนโลยี (PT Sinar Mas Agro and Resources Technology: SMART) เมื่อต้นเดือน หลังจากที่บริษัทดังอย่างยูนิลีเวอร์, เนสท์เล่ และ คราฟท์ หยุดซื้อไปแล้วก่อนหน้านี้
ซีนาร์ มาส กล่าวว่า ยอดขายน้ำมันปาล์มดิบให้เบอร์เกอร์ คิง มีสัดส่วนเพียง 0.06% ของยอดขายทั้งหมดในปี 2552 ดังนั้นจึงไม่ส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินของบริษัท ถึงกระนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็ถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวสำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มดิบของอินโดนีเซีย
สมาคมผู้ผลิตน้ำมันปาล์มแห่งอินโดนีเซีย (GAPKI) กล่าวว่า กรีนพีซกำลังทำลายอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซีย
"พวกเอ็นจีโอเป็นคนจัดฉากทั้งหมด นับเป็นการทำงานอย่างเป็นระบบเพื่อทำลายอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซีย" ฟาดิลห์ ฮาซาน กรรมการบริหารสมาคม กล่าว
นายฮาซานกล่าวว่า รัฐบาลและหน่วยงานใหญ่ที่เป็นกลางอย่างสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ควรเข้ามามีส่วนจัดการเรื่องที่บรรดาเอ็นจีโอและประเทศต่างๆในยุโรปต่อต้านอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซีย
อวิเลียนี นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังจากสถาบันเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าแห่งอินโดนีเซีย (INDEF) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับซินหัวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของสงครามการค้าซึ่งใช้การรณรงค์ของเอ็นจีโอบังหน้าเพื่อทำลายอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มดิบของอินโดนีเซีย
"การรณรงค์ทำนองนี้โดยมากมักมีจุดประสงค์เพื่อกดราคาสินค้าหรือกดดันให้เปลี่ยนไปซื้อสินค้าของเจ้าอื่น" เธอกล่าว พร้อมเสริมว่ารัฐบาลต้องเข้ามาปกป้องบริษัทในประเทศ
"นับเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงที่ปล่อยให้บริษัทต่างๆ ต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง และนั่นจะทำให้อุตสาหกรรมมีขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง" เธอกล่าว
ฮิคมัต โซเรียทานูวิจายา นักรณรงค์ผ่านสื่อประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของกรีนพีซ กล่าวว่า กรีนพีซไม่ได้ต่อต้านการพัฒนาหรือต่อต้านอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ตราบใดที่ทุกบริษัทให้คำมั่นว่าจะทำอุตสาหกรรมแบบยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกัน บัสตาร์ ไมตาร์ ผู้นำการรณรงค์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของกรีนพีซ กล่าวว่า องค์กรของเขาเพียงแต่เปิดเผยว่าบรรดาบริษัทน้ำมันปาล์มไม่ทำตามกฎหมายของอินโดนีเซียอย่างสม่ำเสมอ
ยอดส่งออกน้ำมันปาล์มดิบของอินโดนีเซียไปยังฝรั่งเศสร่วงลง 38% จากระดับ 57.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 เหลือเพียง 35.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 อันเนื่องมาจากปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม
ฮัตตา ราจาสา รัฐมนตรีกระทรวงการประสานงานเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย กล่าวว่า รัฐบาลจะยังคงสนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มดิบในประเทศต่อไป และแสดงความหวังว่าการที่น้ำมันปาล์มดิบของอินโดนีเซียถูกแบนไม่ควรเกิดขึ้นจากคนเพียงกลุ่มเดียว
"องค์กรอิสระควรออกมาให้ความเห็นและคำแนะนำในเรื่องนี้บ้าง" เขากล่าว สำนักข่าวซินหัวรายงาน