ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX: น้ำมันดิบปิดลบ 78 เซนต์ หลังดอลล์แข็ง-เอ็นบริดจ์เล็งเปิดท่อส่งน้ำมัน

ข่าวต่างประเทศ Thursday September 16, 2010 07:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (15 ก.ย.) เพราะได้รับปัจจัยลบจากสกุลเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น และจากข่าวที่ว่าบริษัทเอ็นบริดจ์พร้อมที่จะลำเลียงน้ำมันจากแคนาดาไปยังเขตมิเวสต์สหรัฐ ผ่านทางท่อส่ง Line 6A ในเร็วๆนี้ หลังจากการซ่อมแซมรอยรั่วเสร็จสิ้นลง อย่างไรก็ตาม สัญญาน้ำมันดิบปรับตัวลงในกรอบที่จำกัด เพราะตลาดได้แรงหนุนจากสต็อกน้ำมันดิบที่ร่วงลงเกินคาด และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งของสหรัฐ

สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนต.ค.ลดลง 78 เซนต์ หรือ 1.02% ปิดที่ 76.02 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 74.66 - 76.65 ดอลลาร์

ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์เดือนต.ค.เพิ่มขึ้น 0.38 เซนต์ ปิดที่ 2.1326 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินเดือนต.ค.ลดลง 0.65 เซนต์ ปิดที่ 1.9623 ดอลลาร์/แกลลอน

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนต.ค.ลดลง 25 เซนต์ ปิดที่ 78.91 ดอลลาร์/บาร์เรล

นักลงทุนเทขายสัญญาน้ำมันดิบหลังจากบริษัทเอ็นบริดจ์ อิงค์ ออกแถลงการณ์ว่า ทางบริษัทพร้อมที่จะลำเลียงน้ำมันจากแคนาดาไปยังเขตมิเวสต์สหรัฐผ่านทางท่อส่ง Line 6A ในเร็วๆนี้ หลังจากการซ่อมแซมรอยรั่วเสร็จสิ้นลง

อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทไม่ได้ระบุวันในการเปิดให้บริการท่อส่ง ในขณะที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสหรัฐยืนยันว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดวันในการเปิดใช้งานท่อส่งน้ำมัน Line 6A และทางเจ้าหน้าที่จะต้องตรวจสอบอย่างละเอียดก่อนการเปิดใช้งาน

นักลงทุนในตลาดน้ำมันนิวยอร์กให้น้ำหนักกับข่าวท่อส่งน้ำมัน Line 6A ของเอ็นบริดจ์ เนื่องจากท่อส่งน้ำมันเส้นนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อการลำเลียงน้ำมันไปยังเมืองคุชชิง รัฐโอกลาโฮมา และระยะเวลาของการปิดจะมีความสำคัญต่อระดับสต็อกน้ำมันที่ศูนย์กลางการกำหนดราคาน้ำมันเวสต์ เท็กซัส อินเตอร์มิเดียท (WTI) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองนี้ นอกจากนี้ ท่อส่งน้ำมัน Line 6A ถือเป็นท่อส่งน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทเอ็นบริดจ์

อย่างไรก็ตาม สัญญาน้ำมันดิบปรับตัวลงไม่มากนัก เนื่องจากตลาดขานรับรายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐที่ระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 10 ก.ย.ร่วงลง 2.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 357.4 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะลดลง 2.3 ล้านบาร์เรล

ขณะที่สต็อกน้ำมันกลั่นลดลง 300,000 บาร์เรล แตะระดับ 174.5 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 300,000 บาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 700,000 บาร์เรล แตะระดับ 224.5 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดว่าจะลดลงเพียง 400,000 บาร์เรล ส่วนอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันลดลง 0.6% เหลือเพียง 87.6%

นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในสหรัฐขยายตัว 0.2% ในเดือนส.ค.ซึ่งสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ เพราะได้แรงหนุนจากยอดการผลิตรถยนต์ที่ปรับตัวขึ้นเกินความคาดหมาย และหากไม่นับรวมยอดการผลิตรถยนต์พบว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค.ขยายตัว 0.4%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ