สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงต่อเป็นวันที่ 4 เมื่อคืนนี้ (17 ก.ย.) หลังจากมีการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐที่ปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปี ซึ่งสะท้อนว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอาจชะลอตัว และจะทำให้ความต้องการใช้เชื้อเพลิงลดลงตามไปด้วย
สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนต.ค.ร่วงลง 91 เซนต์ หรือ 1.22% มาปิดที่ระดับ 73.66 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 72.75 - 75.25 ดอลลาร์ โดยสัญญาเดือนต.ค.จะหมดอายุในวันอังคารนี้
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์เดือนต.ค.ขยับขึ้น 0.02 เซนต์ ปิดที่ 2.0992 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินเดือนต.ค.ลดลง 0.55 เซนต์ ปิดที่ 1.9192 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอนส่งมอบเดือนพ.ย.ลดลง 27 เซนต์ ปิดที่ 78.21 ดอลลาร์/บาร์เรล
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นประจำเดือนก.ย. ซึ่งจัดทำโดยรอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกน ร่วงแตะระดับ 66.6 จากระดับ 68.9 ในเดือนส.ค. ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ในทิศทางตรงกันข้ามว่าจะเพิ่มขึ้นแตะที่ระดับ 70
ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 0.3% ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น 2.3% โดยเฉพาะราคาน้ำมันเบนซินที่พุ่งขึ้น 3.9% ขณะที่ราคาอาหาร ซึ่งขยับลงเล็กน้อยในเดือนก.ค. กลับมาดีดตัวขึ้น 0.2% ในเดือนส.ค.
สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมราคาพลังงานและอาหารที่มีความผันผวน ปรากฏว่าทรงตัวในเดือนส.ค
ด้านความเคลื่อนไหวของบริษัทเอ็นบริดจ์ เอ็นเนอร์จี พาร์ทเนอร์นั้น ล่าสุด บริษัทได้เปิดท่อส่งน้ำมันจากแคนาดาไปยังโรงกลั่นในเขตมิดเวสต์ของสหรัฐอีกครั้งแล้ว หลังจากการซ่อมแซมรอยรั่วเสร็จสิ้นลง
นอกจากนี้ ดอลลาร์ที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับยูโรและเยนเมื่อวานนี้ ก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลกดดันตลาดน้ำมันเช่นกัน เพราะทำให้น้ำมันซึ่งซื้อขายกันในสกุลเงินดอลลาร์มีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ซื้อที่ถือเงินสกุลอื่นๆ ส่งผลให้นักลงทุนย้ายเงินลงทุนจากตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ไปยังตลาดปริวัตรเงินตราแทน เพื่อผลตอบแทนที่สูงกว่า