ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX: น้ำมันดิบปิดบวกเพียง 3 เซนต์ แต่เทรดซบเซาหลังตลาดหุ้นร่วง

ข่าวต่างประเทศ Tuesday September 28, 2010 06:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดบวกเพียงเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ (27 ก.ย.) ท่ามกลางภาวะการซื้อขายที่ซบเซา เนื่องจากตลาดได้รับแรงกดกดดันจากการอ่อนตัวลงของดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์ก อันเป็นผลมาจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพในภาคการเงินของยุโรปและอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ

สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนพ.ย.ขยับขึ้น 3 เซนต์ ปิดที่ 76.52 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 76.52 - 76.01 ดอลลาร์

ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์เดือนพ.ย.ลดลง 0.78 เซนต์ ปิดที่ 2.1228 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินเดือนพ.ย.เพิ่มขึ้น 0.17 เซนต์ ปิดที่ 1.9488 ดอลลาร์/แกลลอน

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอนส่งมอบเดือนพ.ย.ลดลง 30 เซนต์ ปิดที่ 78.57 ดอลลาร์/บาร์เรล

การร่วงลงของตลาดหุ้นนิวยอร์กส่งผลให้บรรยากาศการซื้อขายในตลาดน้ำมัน NYMEX ซบเซาลงด้วย หลังจากหลังจากมูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคาแองโกล ไอริช แบงค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในธนาคารยุโรปที่กำลังประสบปัญหาด้านการเงิน ข่าวดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพในภาคการเงินของยุโรป และได้ฉุดราคาหุ้นธนาคารรายใหญ่ระดับโลกอย่างบาร์เคลย์ส และเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค ร่วงลงด้วย

นักลงทุนจับตาดูรายงานสต็อกน้ำมันในรอบสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 ก.ย.ซึ่งสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐจะเปิดเผยในวันพุธนี้ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าสต็อกน้ำมันดิบจะลดลง 400,000 บาร์เรล สต็อกน้ำมันกลั่นจะเพิ่มขึ้น 300,000 บาร์เรล สต็อกน้ำมันเบนซินจะเพิ่มขึ้น 700,000 บาร์เรล และคาดว่าอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันจะลดลง 0.6%

นักลงทุนติดตามดูการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ในวันที่ 14 ต.ค.ที่กรุงเวียนนา หลังจากชีค อาหมัด อัล-อับดุลลาห์ อัล-ซาบาห์ รมว.พลังงานคูเวตกล่าวว่า โอเปคจะต้องปฏิบัติตามโควต้าการผลิตอย่างเคร่งครัดยิ่งขึ้น ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของลิเบีย อิรัก กาตาร์ เอกวาดอร์ และคูเวต มองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนโควต้าการผลิตน้ำมันในระยะนี้

นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย. ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขั้นสุดท้ายประจำไตรมาส 2 ปี 2553 จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีภาคการผลิตเดือนก.ย.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ