ตลาดหุ้นนิวยอร์กพุ่งแรง ขานรับเฟดเดินหน้า QE, ข้อมูลศก.สหรัฐแข็งแกร่ง

ข่าวต่างประเทศ Thursday August 1, 2013 22:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหุ้นสหรัฐเปิดตลาดในแดนบวก โดยดัชนีดาวโจนส์พุ่งกว่า 120 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้นเหนือนแนวต้านทางจิตวิทยาที่ระดับ 1,700 จุด ขานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เดินหน้าใช้มาตรการ QE และข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยในวันนี้ รวมถึงจำนวนคนว่างงานที่ลดลง และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง

ทั้งนี้ หลังจากตลาดเปิดทำการได้ไม่นาน ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์พุ่งขึ้น 123.95 จุด หรือ 0.80% แตะที่ 15,623.49 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 15.07 จุด หรือ 0.89% แตะที่ 1,700.80 จุด และดัชนี Nasdaq ปรับขึ้น 32.02 จุด หรือ 0.88% แตะที่ 3,658.39 จุด

ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กเป็นไปอย่างคึกคัก หลังจากเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed funds rate) ที่ระดับ 0 - 0.25% ในการประชุมระยะเวลา 2 วันซึ่งเสร็จสิ้นเมื่อวานนี้ (31 ก.ค. ) พร้อมกับย้ำว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นพิเศษต่อไป นอกจากนี้ เฟดยังประกาศว่าจะยังคงเดินหน้าโครงการซื้อสินทรัพย์ในวงเงินปัจจุบันที่ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน

ตลาดได้รับแรงหนุนจากข้อมูลเศษฐกิจสหรัฐด้วยเช่นกัน โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 27 ก.ค. ปรับตัวลง 19,000 ราย แตะที่ 326,000 ราย ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 5 ปีครึ่ง ตรงข้ามกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 345,000 ราย จากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 343,000 ราย สะท้อนให้เห็นว่าตลาดแรงงานของสหรัฐฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ ผลการสำรวจของมาร์กิตระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนก.ค.ของสหรัฐ พุ่งขึ้นแตะระดับ 53.7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน และมากกว่าการประมาณการในเบื้องต้นที่ 53.2 และมากกว่าเดือนมิ.ย.ที่ขยายตัวเพียง 51.9 ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่เคลื่อนไหวเหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของสหรัฐยังคงมีการขยายตัว

นักลงทุนในตลาดการเงินจับตาดูกระทรวงแรงงานจะเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ค. ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่าการจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 175,000 รายในเดือนนี้ ขณะที่ประเมินว่าอัตราว่างงานในเดือนก.ค.จะลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 7.5% จาก 7.6% ในเดือนมิ.ย.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ