ณ เวลา 23.20 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 16,974.10 จุด ดิ่งลง 450.52 จุด หรือ 2.59%
ราคาหุ้นแอปเปิลร่วงลงมากกว่า 2% ขณะที่หุ้นโกลด์แมน แซคส์ และซิสโกดิ่งลงอย่างหนักเช่นกัน
การซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และเสิ่นเจิ้นของจีนปิดตลาดวันนี้เมื่อเวลา 13.28 น. หลังจากที่ตลาดดิ่งลงไปถึง 7% จนทำให้มีการใช้เซอร์กิต เบรกเกอร์ ในวันทำการแรกของตลาดหุ้นจีนในปีนี้
ทั้งนี้ ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตร่วง 6.85% ส่วนดัชนีหุ้นเสิ่นเจิ้นดิ่งลง 8.16% และดัชนี ChiNext ทรุดลง 8.21%
ตลาดหุ้นจีนร่วงลงอย่างหนัก หลังการเปิดเผยตัวเลขภาคการผลิตของจีนในเดือนธ.ค.ที่อ่อนตัวลงต่ำกว่าคาดการณ์ รวมทั้งค่าเงินหยวนที่ดิ่งลงอย่างหนัก
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีน ซึ่งมาร์กิตจัดทำร่วมกับไฉซินในเดือนธ.ค.ลดลงสู่ระดับ 48.2 จาก 48.6 ในเดือนพ.ย.
ตัวเลขที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนอยู่ในภาวะหดตัว
ขณะเดียวกัน ค่ากลางเงินหยวนร่วงลง 0.96% แตะ 6.5032 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐในวันนี้
นอกจากนี้ การเปิดเผยตัวเศรษฐกิจสหรัฐที่ซบเซาในวันนี้ ก็ได้เป็นปัจจัยกดดันตลาดเช่นกัน
ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) พบว่า ภาคการผลิตของสหรัฐหดตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ในเดือนธ.ค. หลังจากหดตัวในเดือนพ.ย.เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปลายปี 2012
ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของ ISM ร่วงลงสู่ระดับ 48.2% ในเดือนธ.ค. จากระดับ 48.6 ในเดือนพ.ย. และจากระดับ 50.1% ในเดือนต.ค.
การร่วงลงของดัชนีได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ และการแข็งค่าของดอลลาร์
นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าดัชนีจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 49.0 ในเดือนธ.ค.
ดัชนี PMI ที่สูงกว่าระดับ 50 บ่งชี้ถึงการขยายตัว ขณะที่ดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ถึงการหดตัว
มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ภาคการผลิตของสหรัฐมีการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 3 ปีในเดือนธ.ค.
มาร์กิตระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 51.2 ในเดือนธ.ค. ลดลงจากตัวเลขเบื้องต้นที่ 51.3 และต่ำลงจากจากระดับ 52.8 ในเดือนพ.ย.
การร่วงลงของดัชนีได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และปริมาณธุรกิจใหม่ที่มีการขยายตัวต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2009
อย่างไรก็ดี ดัชนียังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะขยายตัว
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างร่วงลง 0.4% ในเดือนพ.ย.2015 ซึ่งเป็นการดิ่งลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2014
ตัวเลขการใช้จ่ายที่ลดลงในเดือนพ.ย. ถือเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 1 ปีครึ่ง หลังพุ่งขึ้นมากกว่าคาดในเดือนต.ค. แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2007
การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างที่ร่วงลงในเดือนพ.ย.ได้รับผลกระทบจากการใช้จ่ายที่ลดลงทั้งในภาครัฐ และเอกชน
นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนพ.ย.