ดาวโจนส์อ่อนตัวตามราคาน้ำมัน หุ้นพลังงานร่วงนำตลาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 5, 2016 21:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงในวันนี้ โดยถูกกดดันจากราคาน้ำมันที่ยังคงอ่อนตัวลง

นอกจากนี้ การเปิดเผยตัวเลขยอดขาดดุลการค้าของสหรัฐที่มากเกินคาด ก็เป็นอีกปัจจัยที่ถ่วงตลาดลงด้วย

ณ เวลา 21.19 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 17,678.83 จุด ลดลง 59.54 จุด หรือ 0.33%

หุ้นกลุ่มพลังงานดิ่งลงนำตลาดวันนี้

สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ยังคงปรับตัวลงในวันนี้ต่อเนื่องจากวานนี้ โดยแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือน จากการที่นักลงทุนไม่มั่นใจต่อผลการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันในเดือนนี้ ขณะที่รัสเซียมีการผลิตน้ำมันสูงสุดในรอบ 30 ปีในเดือนมี.ค.

นอกจากนี้ การที่อุปสงค์น้ำมันเบนซินในสหรัฐได้ร่วงลงในเดือนม.ค. เป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน ก็เป็นปัจจัยกดดันตลาดเช่นกัน

ณ เวลา 19.21 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนพ.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX ลดลง 9 เซนต์ หรือ 0.25% สู่ระดับ 35.61 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากดิ่งแตะระดับ 35.49 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือน

นักลงทุนมีความกังวลว่า การประชุมกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันในกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกในวันที่ 17 เม.ย.ที่เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์นั้น ที่ประชุมจะไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องการตรึงกำลังการผลิต หลังจากซาอุดิอาระเบียตั้งเงื่อนไขว่าจะตรึงกำลังการผลิตก็ต่อเมื่ออิหร่านและประเทศอื่นๆยอมปฏิบัติตาม

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า สหรัฐมีตัวเลขขาดดุลการค้ามากกว่าคาดในเดือนก.พ. เนื่องจากการนำเข้าสูงกว่าการส่งออก

ทั้งนี้ กระทรวงระบุว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น 2.6% สู่ระดับ 4.71 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนก.พ. ขณะที่ตัวเลขการขาดดุลในเดือนม.ค.มีการปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.59 หมื่นล้านดอลลาร์ จากเดิมที่ระดับ 4.57 หมื่นล้านดอลลาร์

นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าจะอยู่ที่ระดับ 4.62 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนก.พ.

เมื่อมีการปรับค่าตามเงินเฟ้อ ตัวเลขขาดดุลการค้าพุ่งขึ้นแตะ 6.33 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.ปีที่แล้ว จากระดับ 6.18 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนม.ค.

ตัวเลขการส่งออกของสหรัฐได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และความอ่อนแอของอุปสงค์ในตลาดโลก

การส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น 1.6% สู่ระดับ 1.186 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนก.พ. โดยเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.ย.ปีที่แล้ว ขณะที่การส่งออกสินค้า และบริการเพิ่มขึ้น 1.0% สู่ระดับ 1.781 แสนล้านดอลลาร์

ส่วนการนำเข้าสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น 1.3% สู่ระดับ 2.251 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนก.พ.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ