ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบเมื่อคืนนี้ (9 ก.ย.) จากแรงเทขาย เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงผิดหวังที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ไม่ได้ประกาศขยายช่วงเวลาในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดี
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปรับตัวลง 3.80 จุด หรือ -1.09% ปิดที่ 345.52 จุด ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค. หรือในรอบ 5 สัปดาห์ ขณะที่ตลอดทั้งสัปดาห์ ดัชนีร่วงลง 1.4% หนักสุดในรอบ 1 เดือน
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,491.40 จุด ลดลง 50.80 จุด หรือ -1.12% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 10,573.44 จุด ลดลง 101.85 จุด หรือ -0.95% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,776.95 จุด ลดลง 81.75 จุด หรือ -1.19%
ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นยุโรปได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. ภายหลังจากที่นายเอริค โรเซนเกรน ประธานเฟด สาขาบอสตัน กล่าวเตือนว่า เฟดเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น หากชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปนานเกินไป ดังนั้นการใช้นโยบายคุมเข้มอย่างค่อยเป็นค่อยไปจึงมีความเหมาะสม
ประธานเฟดบอสตันไม่ได้ระบุว่าเขาคาดหวังให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนสิ้นปีหรือไม่ แต่ถ้อยแถลงของเขาสอดคล้องกับสิ่งที่นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า ปัจจัยที่สนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกำลังมีน้ำหนักมากขึ้น
ทางด้านนายโรเบิร์ต แคปแลน ประธานเฟด สาขาดัลลัส กล่าวว่า ปัจจัยที่สนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย กำลังมีน้ำหนักมากขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
ประธานเฟดดัลลัส ยังกล่าวว่า รายงานการจ้างงานในช่วงที่ผ่านมา บ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานยังคงปรับตัวดีขึ้น และขณะที่อัตราเงินเฟ้อกำลังเพิ่มขึ้นอย่างเชื่องช้าไปสู่เป้าหมายของเฟดที่ 2% จึงคาดกันว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงค่อยๆปรับตัวขึ้นต่อไปในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
CME Group FedWatch ระบุว่า นักลงทุนได้เพิ่มคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนนี้ หลังคำกล่าวของนายโรเซนเกรน และนายแคปแลน โดยนักลงทุนเพิ่มความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย.สู่ระดับ 24% จากเดิมที่ 18%
ความเป็นไปได้ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้สร้างแรงกดดันให้กับตลาดหุ้นยุโรปเพิ่มขึ้น หลังจากที่ถูกกดดันอยู่แล้วในวันก่อน หลังจากที่ประชุม ECB ไม่ได้ประกาศขยายช่วงเวลาในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ECB ยังได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2017 และ 2018 สู่ระดับ 1.6% จากเดิมที่ 1.7%
ทั้งนี้ ที่ประชุม ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ระดับ 0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ พร้อมกับได้ประกาศคงวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ระดับ 8 หมื่นล้านยูโร/เดือน และไม่มีการขยายช่วงเวลาในการดำเนินนโยบายดังกล่าวที่มีกำหนดสิ้นสุดในเดือนมี.ค. 2017 โดยระบุเพียงว่าจะมีการขยายช่วงเวลาดังกล่าวออกไป หากมีความจำเป็น
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจของประเทศในยุโรปที่มีการเปิดเผยในวันศุกร์ สำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนี (Destatis) เปิดเผยว่า เยอรมนีมียอดเกินดุลการค้า 1.94 หมื่นล้านยูโรในเดือนก.ค. ลดลงจาก 2.14 หมื่นล้านยูโรในเดือนมิ.ย. ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า เยอรมนีมียอดเกินดุลการค้า 2.27 หมื่นล้านยูโรในเดือนก.ค.
โดยยอดเกินดุลการค้าที่ปรับตัวลงในเดือนก.ค. เป็นผลจากยอดส่งออกที่ลดลงอย่างหนัก โดยลดลง 2.6% เมื่อเทียบรายเดือน และ 10% เมื่อเทียบเดือนก.ค.ปีที่แล้ว
ขณะที่กระทรวงงบประมาณฝรั่งเศส เปิดเผยว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสขาดดุลงบประมาณรวมกัน 8.08 หมื่นล้านยูโร เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขาดดุลงบประมาณ 7.98 หมื่นล้านยูโร
ทางกระทรวงระบุว่า สาเหตุที่ฝรั่งเศสขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจากได้มีการจ่ายเงินล่วงหน้า 5.4 พันล้านยูโรภายในรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจะได้รับชำระเงินคืนภายในปลายปีนี้
ด้านสำนักงานสถิติแห่งชาติของฝรั่งเศสเผยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของฝรั่งเศส ซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของยุโรป หดตัวลง 0.6% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบเป็นรายเดือน หลังจากที่ลดลง 0.7% ในเดือนมิ.ย.
ข้อมูลดังกล่าวเป็นสถิติที่หดตัวลงอย่างเหนือการคาดการณ์ เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะลดลงเพียง 0.3% ในเดือนก.ค.