ดัชนีดาวโจนส์ล่วงหน้าร่วงลงกว่า 100 จุดในวันนี้ บ่งชี้ว่าตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะดิ่งลงในคืนนี้ ขณะที่นักลงทุนจับตาศึกดีเบตระหว่างนางฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครต และนายโดนัลด์ ทรัมป์ คู่แข่งจากพรรครีพับลิกัน ในวันนี้ ซึ่งจะเป็นเหตุการณ์สำคัญที่อาจชี้ชะตาผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปลายปีนี้
ณ เวลา 20.06 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ล่วงหน้าลบ 102 จุด หรือ 0.56% สู่ระดับ 18,088 จุด
การโต้อภิปรายดังกล่าวจะมีขึ้นในวันนี้ที่มหาวิทยาลัยฮอฟสตรา รัฐนิวยอร์ก ณ เวลา 21.00 น.ตามเวลาสหรัฐ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลา Prime Time ในสหรัฐ หรือพรุ่งนี้เช้าเวลา 08.00 น.ตามเวลาไทย โดยจะใช้เวลา 90 นาที และจะมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ผ่านเครือข่ายยักษ์ใหญ่ในสหรัฐ รวมทั้งช่อง CNN และ BBC ไปยังผู้ชมทั่วโลก
นายแดเนียล คลิฟตัน หัวหน้าสถาบันวิจัยสเตรทแกส กล่าวว่า "หุ้นมักจะขึ้น หากพรรคการเมืองที่กำลังเป็นรัฐบาลสหรัฐในขณะนั้นโต้วาทีชนะ ซึ่งถ้าฮิลลารีสามารถปิดปากทรัมป์ในการดีเบตครั้งนี้ เราจะเห็นว่าดัชนี S&P 500 ทะยานขึ้นอย่างมาก แต่ถ้าทรัมป์ชนะการดีเบต นักลงทุนก็จะเทขายหุ้นในตลาด เนื่องจากทรัมป์เป็นคนที่เอาแน่เอานอนไม่ได้"
นายคลิฟตันระบุว่า หากนางฮิลลารีโต้วาทีชนะ หุ้นส่วนใหญ่ในตลาดจะปรับตัวขึ้น รวมถึงหุ้นกลุ่มพลังงานทดแทน และกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน แต่ถ้านายทรัมป์ชนะ หุ้นส่วนใหญ่จะร่วงลง ยกเว้นกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ, บริษัทผลิตอาวุธ, กลุ่มน้ำมันและก๊าซ รวมทั้งกลุ่มธนาคาร
นอกจากนี้ นักลงทุนยังให้ความสนใจต่อการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และรัสเซียที่มีกำหนดจัดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการในวันที่ 26-28 ก.ย.นี้ นอกรอบการประชุมพลังงานระหว่างประเทศ (IEF) ที่แอลจีเรีย โดยที่ประชุมจะหารือการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมัน
อย่างไรก็ดี บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของรัสเซียจำนวน 5 แห่ง ซึ่งมีสัดส่วนตลาดถึง 3 ใน 4 ในรัสเซีย ระบุว่า ทางบริษัทจะยังคงเพิ่มกำลังการผลิตในปีหน้า หลังจากผลิตน้ำมันแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
ทางด้านประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ยังไม่มีการเรียกจัดการประชุมกับบริษัทผลิตน้ำมันดังกล่าว ขณะที่กระทรวงพลังงานก็ไม่มีกำหนดพบปะกับผู้ผลิตน้ำมันเพื่อหารือเกี่ยวกับการจำกัดการผลิตแต่อย่างใด
แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวว่า "เราคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการตกลงกันในเรื่องนี้ เพราะไม่มีใครไว้ใจใคร ทุกประเทศต่างพากันเพิ่มการผลิตทั้งในโอเปก และนอกโอเปก"