ตลาดหุ้นนิวยอร์กเปิดแดนบวกในวันนี้ โดยปรับตัวขึ้นเป็นวันที่ 3 ในรอบ 4 วันทำการ ขณะที่นักลงทุนจับตาความคืบหน้าในการแก้วิกฤตการเงินในดอยซ์แบงก์
ณ เวลา 20.35 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 18,272.47 จุด เพิ่มขึ้น 130.09 จุด หรือ 0.72%
หุ้นกลุ่มการเงิน และอสังหาริมทรัพย์พุ่งขึ้นนำตลาดวันนี้ ขณะที่หุ้น 3M หนุนตลาดขึ้นอย่างมาก
ดัชนีดาวโจนส์อาจทำสถิติปรับตัวในช่วงกว้างกว่า 100 จุดติดต่อกันเป็นวันทำการที่ 6 ในวันนี้
และเนื่องจากวันนี้เป็นวันทำการสุดท้ายของไตรมาส 3 การปรับตัวของดัชนีดาวโจนส์ในวันนี้ก็ได้บ่งชี้ว่าดัชนีมีแนวโน้มพุ่งขึ้น 1.19% ในไตรมาส 3
นายจอห์น ไครอัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารดอยซ์แบงก์ ยืนยันว่า ทางธนาคารยังคงมีสถานะที่แข็งแกร่ง แม้มีข่าวว่าเฮดจ์ฟันด์หลายแห่งได้ยุติการทำธุรกรรมกับทางธนาคาร
ทั้งนี้ นายไครอันได้ออกจดหมายเป็นการภายใน โดยแจ้งต่อพนักงานว่า เขาเข้าใจดีว่าพนักงานรู้สึกวิตกจากข่าวในสื่อที่รายงานว่า ลูกค้าที่เป็นเป็นเฮดจ์ฟันด์หลายแห่งได้ถอนตัวจากธนาคาร แต่เขาขอยืนยันว่าดอยซ์แบงก์ยังคงมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง และมีลูกค้ามากกว่า 20 ล้านราย
นายไครอันยังได้กล่าวในจดหมายว่า ความไม่แน่นอนต่อผลของการที่ทางธนาคารถูกทางการสหรัฐสั่งปรับ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ไม่ควรเป็นเหตุผลที่จะทำให้ราคาหุ้นของดอยซ์แบงก์ถูกกดดัน เนื่องจากธนาคารที่เป็นคู่แข่งของดอยซ์แบงก์หลายแห่ง ซึ่งถูกสหรัฐสั่งปรับในกรณีเดียวกัน ในที่สุดก็สามารถบรรลุข้อตกลงจ่ายค่าปรับในวงเงินที่ต่ำกว่าที่ระบุไว้ในเบื้องต้น
ราคาหุ้นดอยซ์แบงก์ร่วงลง 8% หลุดจากระดับ 10 ยูโรเป็นครั้งแรกในวันนี้ หลังจากมีรายงานว่า เฮดจ์ฟันด์กว่า 10 แห่งที่ทำธุรกิจร่วมกับดอยซ์แบงก์นั้น ต่างพากันถอนตัวจากการทำธุรกรรมกับทางธนาคาร
ความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของดอยซ์แบงก์มีขึ้น นับตั้งแต่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐมีคำสั่งให้ดอยซ์แบงก์จ่ายค่าปรับเป็นเงิน 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อยุติการสอบสวนในคดีที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน (MBS) ซึ่งเป็นต้นเหตุของวิกฤตการเงินโลกในปี 2551
ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยในวันนี้ว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐ ทรงตัวในเดือนส.ค. ซึ่งถือเป็นระดับที่ย่ำแย่ที่สุดในรอบ 5 เดือน หลังจากดีดตัวขึ้น 0.4% ในเดือนก.ค. และ 0.3% ในเดือนมิ.ย.
การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ซบเซาในเดือนส.ค. ได้รับผลกระทบจากคำสั่งซื้อรถยนต์ที่ลดลง
นอกจากนี้ รายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนก.ค.
ค่าแรงและเงินเดือน ซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุดในรายได้ส่วนบุคคล เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% หลังจากดีดตัวขึ้น 0.5% ติดต่อกัน 2 เดือน
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากขยับขึ้น 0.1% ทั้งในเดือนก.ค. และเดือนมิ.ย.
เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE ดีดตัวขึ้น 1.7% ในเดือนส.ค. ใกล้เคียงกับเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ 2% ของเฟด