ตลาดหุ้นนิวยอร์กเปิดแดนลบในวันนี้ ถึงแม้มีการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานสหรัฐที่ต่ำกว่าคาด เนื่องจากนักลงทุนยังคงมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่จะมีขึ้นในอีก 4 วัน
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่ดิ่งลงก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ถ่วงตลาด
ณ เวลา 20.45 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 17,914.44 จุด ลดลง 15.61 จุด หรือ 0.10%
ดัชนีดาวโจนส์มีแนวโน้มปรับตัวย่ำแย่ที่สุดในสัปดาห์นี้ในรอบ 8 สัปดาห์
หุ้นกลุ่มพลังงานดิ่งลงนำตลาดวันนี้ ตามราคาน้ำมันที่ร่วงลงกว่า 1%
สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ดิ่งลงกว่า 1% ในวันนี้ โดยปรับตัวลงติดต่อกันเป็นวันที่ 6 หลังนักลงทุนไม่มั่นใจต่อการที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) จะสามารถบรรลุข้อตกลงลดกำลังการผลิตในการประชุมวันที่ 30 พ.ย.
นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกต่อภาวะน้ำมันล้นตลาด หลังสหรัฐเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้นเกินคาด ขณะที่อุปสงค์ซบเซา
ณ เวลา 20.23 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนธ.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX ลดลง 51 เซนต์ หรือ 1.14% สู่ระดับ 44.15 ดอลลาร์/บาร์เรล
ทั้งนี้ ตลาดถูกกดดัน หลังมีรายงานว่า ในการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของโอเปกในสัปดาห์ที่แล้ว ซาอุดิอาระเบียได้ขู่ว่าจะเพิ่มกำลังการผลิต สู่ระดับ 12 ล้านบาร์เรล/วัน และจะถอนตัวไม่เข้าร่วมการประชุมในวันที่ 30 พ.ย. หากอิหร่านไม่ปรับลดกำลังการผลิตลง
นอกจากนี้ นักลงทุนยังได้เทขายสัญญาน้ำมันก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในสัปดาห์หน้า เพื่อลดความเสี่ยง หลังจากที่ผลสำรวจพบว่าคะแนนนิยมของผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันเริ่มใกล้เคียงกัน
ถึงแม้มีการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานที่ต่ำกว่าคาด แต่นักวิเคราะห์ระบุว่าตัวเลขดังกล่าวยังไม่ต่ำพอที่จะทำให้นักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้า
นอกจากนี้ นักลงทุนยังมีความกังวลต่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 8 พ.ย. ขณะอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง หลังจากผลสำรวจบ่งชี้ว่าคะแนนนิยมของนางฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครต และนายโดนัลด์ ทรัมป์ คู่แข่งจากพรรครีพับลิกัน เริ่มสูสีกัน
กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 161,000 ตำแหน่งในเดือนต.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 191,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 4.9%
นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 175,000 ตำแหน่งในเดือนต.ค. และอัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 4.9%
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐระบุว่า ภาคเอกชนมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 142,000 ตำแหน่งในเดือนต.ค. ขณะที่ภาครัฐจ้างงานเพิ่มขึ้น 19,000 ตำแหน่ง
กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ทบทวนปรับลดตัวเลขการจ้างงานในเดือนก.ย. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 191,000 ตำแหน่ง จากที่มีการรายงานก่อนหน้านี้ว่าเพิ่มขึ้น 156,000 ตำแหน่ง และทบทวนปรับเพิ่มตัวเลขการจ้างงานในเดือนส.ค. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 176,000 ตำแหน่ง จากที่มีการรายงานก่อนหน้านี้ว่าเพิ่มขึ้น 167,000 ตำแหน่ง
ตัวเลขรายได้ต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ ได้เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนต.ค.
ส่วนตัวเลขอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 62.8% เทียบกับ 62.9% ในเดือนก.ย.
ขณะเดียวกัน ตลาดยังให้ความสนใจต่อการกล่าวสุนทรพจน์ของเจ้าหน้าที่เฟดหลายรายในวันนี้ ซึ่งได้แก่ นายสแตนลีย์ ฟิสเชอร์ รองประธานเฟด นายเดนนิส ล็อคฮาร์ท ประธานเฟดสาขาแอตแลนตา และนายร็อบ แคปแลน ประธานเฟดสาขาดัลลัส