ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงในวันนี้ โดยดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงเกือบ 200 จุด และอ่อนตัวลงติดต่อกันเป็นวันทำการที่ 8 ซึ่งจะเป็นการปรับตัวในช่วงขาลงที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2011
ณ เวลา 20.46 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 20,423.79 จุด ลดลง 172.64 จุด หรือ 0.85%
ในเดือนมี.ค.นี้ ดัชนีดาวโจนส์ทำสถิติทรุดตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2016
หุ้นกลุ่มการเงินดิ่งลงนำตลาดวันนี้ ขณะที่หุ้นโกลด์แมน แซคส์ร่วงลงมากที่สุดในการซื้อขายช่วงแรก
นักลงทุนมีความไม่มั่นใจต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หลังจากที่เขาไม่สามารถผลักดันร่างกฎหมายประกันสุขภาพ "อเมริกันเฮลธ์แคร์" ผ่านสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเมื่อวันศุกร์
การที่ปธน.ทรัมป์ต้องยอมถอนร่างกฎหมาย "อเมริกันเฮลธ์แคร์" ซึ่งจะนำมาแทนกฎหมายประกันสุขภาพ "Affordable Care Act (ACA)" หรือ "โอบามาแคร์" ออกจากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐนั้น อาจถือได้ว่าเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ครั้งแรกในสภานิติบัญญัติของปธน.ทรัมป์ นับตั้งแต่ที่เขาเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 ม.ค.
ทั้งนี้ ปธน.ทรัมป์ไม่สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนจากสมาชิกพรรครีพับลิกันได้ ทั้งที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในทั้งสองสภาของสภาคองเกรส ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามถึงความสามารถของปธน.ทรัมป์ในการเดินหน้าผลักดันนโยบายอื่นๆ ซึ่งรวมถึงการปฏิรูปภาษี และการใช้จ่ายงบประมาณในโครงการสาธารณูปโภค ตามที่เขาได้เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง
ก่อนหน้านี้ ปธน.ทรัมป์เคยกล่าวว่า การยกเลิกกฎหมายประกันสุขภาพ "โอบามาแคร์" จะต้องเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการดำเนินต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ เช่น การปรับลดภาษี หรือการผ่อนคลายกฎระเบียบ
นอกจากนี้ การที่ราคาสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ยังคงปรับตัวลงในวันนี้ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ฉุดตลาดหุ้นวอลล์สตรีทลงในคืนนี้
สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ดิ่งลงกว่า 1% ในวันนี้ จากความไม่มั่นใจที่ว่ากลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันจะสามารถบรรลุข้อตกลงขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตเกินกว่าเดือนมิ.ย.ได้หรือไม่
ณ เวลา 19.28 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนพ.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX ลดลง 51 เซนต์ หรือ 1.06% สู่ระดับ 47.46 ดอลลาร์/บาร์เรล
ทั้งนี้ คณะกรรมการจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และประเทศนอกกลุ่มโอเปกระบุว่า ทางคณะกรรมการได้ตกลงที่จะพิจารณาข้อเสนอในการขยายกรอบเวลาลดกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มอีก 6 เดือน โดยจะประเมินตามภาวะตลาดน้ำมันเพื่อตัดสินใจว่าจะดำเนินการดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งมติดังกล่าวได้แตกต่างจากร่างแถลงการณ์ก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าคณะกรรมการเสนอให้กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันลดกำลังการผลิตต่อไป