ดัชนีดาวโจนส์ล่วงหน้าปรับตัวขึ้นในวันนี้ บ่งชี้ว่าตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะดีดตัวในคืนนี้ ขณะที่นักลงทุนพิจารณาผลประกอบการ และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ
อย่างไรก็ดี การดิ่งลงของราคาน้ำมันเป็นปัจจัยลบต่อตลาด
ณ เวลา 20.15 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ล่วงหน้าบวก 35 จุด หรือ 0.17% สู่ระดับ 20,914 จุด
สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ดิ่งลงเกือบ 2% ในวันนี้ หลุดระดับ 47 ดอลลาร์ แตะระดับต่ำสุดของปีนี้ หลังมีการเปิดเผยว่าสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลงน้อยกว่าที่คาดไว้
ณ เวลา 19.28 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนพ.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX ลดลง 94 เซนต์ หรือ 1.97% สู่ระดับ 46.88 ดอลลาร์/บาร์เรล
สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐลดลงเพียง 930,000 บาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว เทียบกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลง 2.3 ล้านบาร์เรล
ขณะนี้สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐอยู่ที่ระดับ 527.8 ล้านบาร์เรล โดยอยู่ต่ำกว่าระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เพียง 7 ล้านบาร์เรล
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 19,000 ราย ในสัปดาห์ที่แล้ว สู่ระดับ 238,000 ราย
นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ตัวเลขผู้ที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจะลดลงสู่ระดับ 247,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว
ตัวเลขผู้ที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกยังคงอยู่ต่ำกว่า 300,000 ราย เป็นสัปดาห์ที่ 113 ติดต่อกัน ซึ่งยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 1970
ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 750 ราย สู่ระดับ 243,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว
สำหรับจำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 22 เม.ย. มีจำนวนลดลง 23,000 ราย สู่ระดับ 1.96 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2000 ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ ลดลง 17,750 ราย สู่ระดับ 1.99 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.1988
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานวันนี้ว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐลดลงในเดือนมี.ค. ขณะที่การนำเข้า และการส่งออกต่างปรับตัวลง
ทั้งนี้ สหรัฐมีตัวเลขขาดดุลการค้าลดลง 0.1% ในเดือนมี.ค. สู่ระดับ 4.37 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังจากที่ขาดดุล 4.38 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนก.พ.
นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.45 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนมี.ค.
อย่างไรก็ดี หากปรับค่าตามเงินเฟ้อ สหรัฐขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 6.00 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนมี.ค. จากระดับ 5.994 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนก.พ.
สหรัฐส่งออกสินค้าและบริการลดลง 0.9% สู่ระดับ 1.910 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนมี.ค. ขณะที่นำเข้าสินค้าและบริการลดลง 0.7% สู่ระดับ 2.347 แสนล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ สหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้น 7.0% สู่ระดับ 2.46 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนมี.ค. ขณะที่มูลค่าการนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้น 4.4% สู่ระดับ 3.42 หมื่นล้านดอลลาร์ นำโดยการนำเข้าโทรศัพท์มือถือ