ตลาดหุ้นนิวยอร์กเปิดแดนบวกในวันนี้ แต่ร่วงลงในเวลาต่อมา โดยถูกกดดันจากราคาน้ำมันที่ดิ่งลงอย่างหนัก และฉุดหุ้นกลุ่มพลังงาน
ณ เวลา 20.49 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 20,938.25 จุด ลดลง 19.65 จุด หรือ 0.09%
หุ้นกลุ่มพลังงานดิ่งลงนำตลาดวันนี้ ขณะที่หุ้นโกลด์แมน แซคส์ปรับตัวขึ้นมากที่สุดในการซื้อขายช่วงแรก
สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ดิ่งลงเกือบ 2% ในวันนี้ หลุดระดับ 47 ดอลลาร์ แตะระดับต่ำสุดของปีนี้ หลังมีการเปิดเผยว่าสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลงน้อยกว่าที่คาดไว้
ณ เวลา 19.28 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนพ.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX ลดลง 94 เซนต์ หรือ 1.97% สู่ระดับ 46.88 ดอลลาร์/บาร์เรล
สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐลดลงเพียง 930,000 บาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว เทียบกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลง 2.3 ล้านบาร์เรล
ขณะนี้สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐอยู่ที่ระดับ 527.8 ล้านบาร์เรล โดยอยู่ต่ำกว่าระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เพียง 7 ล้านบาร์เรล
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐที่เตรียมโหวตร่างกฎหมายประกันสุขภาพฉบับใหม่ของพรรครีพับลิกันในวันนี้ หลังจากก่อนหน้านี้ประสบปัญหาในการรวบรวมคะแนนเสียงจนต้องถอนร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวออกจากการพิจารณาในรัฐสภาเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา
นายเควิน แม็กคาร์ธีย์ ผู้นำเสียงข้างมากของรีพับลิกันในสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า "เราจะทำการลงมติร่างกฎหมายประกันสุขภาพฉบับใหม่ในวันนี้ เนื่องจากเราสามารถรวบรวมคะแนนเสียงได้เพียงพอต่อการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว"
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันกฎหมายประกันสุขภาพฉบับใหม่ หรือที่เรียกว่า "อเมริกันเฮลธ์แคร์" เพื่อนำมาบังคับใช้แทนกฎหมายประกันสุขภาพฉบับโอบามาแคร์ (Affordable Care Act) ของรัฐบาลชุดก่อน แต่ที่ผ่านมานั้น พรรครีพับลิกันประสบปัญหาในการโน้มน้าวสมาชิกพรรคสายอนุรักษ์นิยม เนื่องจากพวกเขามองว่า เนื้อหาส่วนใหญ่ของร่างกฎหมายอเมริกันเฮลธ์แคร์ไม่แตกต่างจากโอบามาแคร์มากนัก
ในวันนี้มีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐหลายรายการ
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันนี้ว่า ประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐได้ชะลอตัวลงในไตรมาส 1 ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านแรงงานพุ่งขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว
ทั้งนี้ ประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานลดลง 0.6% ในไตรมาส 1 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี จากที่เพิ่มขึ้น 1.8% ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว
นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานทรงตัวในไตรมาส 1
อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว ประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานเพิ่มขึ้น 1.1%
กระทรวงแรงงานสหรัฐวัดประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานจากผลผลิตเมื่อเทียบกับจำนวนชั่วโมงทำงาน
ประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานได้ปรับตัวขึ้นโดยเฉลี่ย 0.6% ในแต่ละปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ระดับ 2.1% ที่ทำไว้ในช่วงปี 1947-2016
ขณะเดียวกัน ต้นทุนแรงงานต่อหน่วยเพิ่มขึ้น 3.0% ในไตรมาส 1 หลังจากเพิ่มขึ้น 1.3% ในไตรมาส 4
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว ต้นทุนแรงงานต่อหน่วยเพิ่มขึ้น 2.8% ในไตรมาส 1
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 19,000 ราย ในสัปดาห์ที่แล้ว สู่ระดับ 238,000 ราย
นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ตัวเลขผู้ที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจะลดลงสู่ระดับ 247,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานวันนี้ว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐลดลงในเดือนมี.ค. ขณะที่การนำเข้า และการส่งออกต่างปรับตัวลง
ทั้งนี้ สหรัฐมีตัวเลขขาดดุลการค้าลดลง 0.1% ในเดือนมี.ค. สู่ระดับ 4.37 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังจากที่ขาดดุล 4.38 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนก.พ.
นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.45 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนมี.ค.
อย่างไรก็ดี หากปรับค่าตามเงินเฟ้อ สหรัฐขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 6.00 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนมี.ค. จากระดับ 5.994 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนก.พ.
สหรัฐส่งออกสินค้าและบริการลดลง 0.9% สู่ระดับ 1.910 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนมี.ค. ขณะที่นำเข้าสินค้าและบริการลดลง 0.7% สู่ระดับ 2.347 แสนล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ สหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้น 7.0% สู่ระดับ 2.46 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนมี.ค. ขณะที่มูลค่าการนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้น 4.4% สู่ระดับ 3.42 หมื่นล้านดอลลาร์ นำโดยการนำเข้าโทรศัพท์มือถือ