ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (17 พ.ค.) จากความวิตกกังวลที่ว่าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและการปฏิรูปภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมปแห่งสหรัฐ อาจต้องสะดุดลง อันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองในสหรัฐ
ดัชนี Stoxx Europe 600 ร่วงลง 1.2% ปิดที่ 391.14 จุด
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,631.61 จุด ร่วงลง 172.92 จุด หรือ -1.35% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,317.89 จุด ลดลง 88.21 จุด หรือ -1.63% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,503.47 จุด ลดลง 18.56 จุด หรือ -0.25%
ตลาดหุ้นยุโรปร่วงลงอย่างหนักเช่นเดียวกับตลาดหุ้นสหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่า สถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอนและเต็มไปด้วยความขัดแย้งในสหรัฐเวลานี้ อาจจะส่งผลให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและแผนการปฏิรูปภาษีของปธน.ทรัมป์ต้องสะดุดลง และอาจนำไปสู่การถอดถอนปธน.ทรัมป์ออกจากตำแหน่ง
ทั้งนี้ การที่ปธน.ทรัมป์สั่งปลดนายเจมส์ โคมีย์ พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐ (FBI) ทำให้มีการมองกันว่าปธน.ทรัมป์กำลังแทรกแซงการทำงานของ FBI
ขณะที่สื่อรายงานเพิ่มเติมว่า ปธน.ทรัมป์ได้สั่งการให้นายโคมีย์ยุติการสอบสวนประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างนายไมเคิล ฟลินน์ อดีตที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ กับรัฐบาลรัสเซีย ก่อนที่นายโคมีย์จะถูกปลดจากตำแหน่ง
หุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลงอย่างหนัก โดยหุ้นดอยซ์ แบงก์ ร่วงลง 3.5% หุ้นธนาคารบังคา ป๊อปปูเลร์ เอสพานอล ร่วงลง 4.2% และหุ้นบีเอ็นพี พาริบาส์ ดิ่งลง 3.1%
นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ โดยสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ยูโรโซนอยู่ที่ระดับ 1.9% ในเดือนเม.ย. ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากรายงานเบื้องต้น
ด้านสำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) เปิดเผยว่า รายได้ของภาคครัวเรือนของสหราชอาณาจักรได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้อัตราการว่างงานจะดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 42 ปีก็ตาม
ทั้งนี้ ค่าแรงในสหราชอาณาจักร ซึ่งไม่นับรวมเงินโบนัส เพิ่มขึ้นเพียง 2.1% ในไตรมาสแรก เมื่อเทียบรายปี โดยต่ำกว่าระดับ 2.2% ที่มีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ โดยระดับค่าแรง หรือรายได้ดังกล่าว ถือว่าต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2016