ดัชนีดาวโจนส์เปิดแดนลบในวันนี้ โดยร่วงลงเป็นวันทำการที่ 2 หลังจากปิดทำการเมื่อวานนี้ เนื่องในวัน Memorial day
ณ เวลา 20.50 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 21,054.10 จุด ลดลง 26.69 จุด หรือ 0.13%
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาทั้งเดือนพ.ค. ดัชนีดาวโจนส์ยังคงมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นในเดือนนี้
หุ้นกลุ่มพลังงานดิ่งลงนำตลาดวันนี้ ขณะที่หุ้นเชฟรอนร่วงลงมากที่สุดในการซื้อขายช่วงแรก
ตลาดถูกกดดันจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงมากกว่า 1% ในวันนี้ หลังจากที่โกลด์แมน แซคส์ประกาศปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันในปีนี้ ขณะที่นักลงทุนมีความผิดหวังต่อการตัดสินใจของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ในการขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันออกไปอีก 9 เดือน โดยที่ไม่มีการปรับลดการผลิตมากขึ้น ซึ่งจะไม่สามารถลดปริมาณน้ำมันในตลาดโลก หลังจากเผชิญภาวะน้ำมันล้นตลาดมาเป็นเวลานานเกือบ 3 ปี
ณ เวลา 21.01 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนก.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX ลดลง 68 เซนต์ หรือ 1.37% สู่ระดับ 49.12 ดอลลาร์/บาร์เรล
โกลด์แมน แซคส์ประกาศปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันในปีนี้ และระบุว่าราคาในตลาดซื้อขายล่วงหน้าปี 2018-2019 ควรอยู่ต่ำกว่า 50 ดอลลาร์ โดยอยู่ที่ 45-50 ดอลลาร์
ทั้งนี้ โกลด์แมน แซคส์คาดว่า ราคาเฉลี่ยของน้ำมันดิบ WTI จะอยู่ที่ 52.39 ดอลลาร์/บาร์เรลในปีนี้ ลดลงจากระดับ 54.80 ดอลลาร์/บาร์เรลที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ โกลด์แมน แซคส์คาดว่า ราคาเฉลี่ยของน้ำมันดิบเบรนท์จะอยู่ที่ 55.39 ดอลลาร์/บาร์เรลในปีนี้ ลดลงจากระดับ 56.76 ดอลลาร์/บาร์เรลที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้
โกลด์แมน แซคส์ระบุว่า ราคาสัญญาน้ำมันในตลาดซื้อขายล่วงหน้าสำหรับปี 2018-2019 จำเป็นต้องอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ดอลลาร์ เพื่อให้ผู้ผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (shale oil) ของสหรัฐไม่มีแรงจูงใจที่จะทำการผลิตมากขึ้น
โกลด์แมน แซคส์เตือนว่า ต้นทุนการผลิตน้ำมันที่ลดลงของสหรัฐ จะทำให้ปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีข้างหน้า และเมื่อโอเปกสิ้นสุดช่วงเวลาปรับลดกำลังการผลิต การผลิตน้ำมันของโอเปกและสหรัฐก็จะเพิ่มขึ้น 1.0-1.3 ล้านบาร์เรล/วัน ระหว่างปี 2018-2020
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐ เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 4 เดือนในเดือนเม.ย. โดยดีดตัวขึ้น 0.4% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนมี.ค.
การใช้จ่ายของผู้บริโภคในเดือนเม.ย.สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
หากปรับค่าตามเงินเฟ้อ การใช้จ่ายของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนเม.ย. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนมี.ค.
ทั้งนี้ การใช้จ่ายของผู้บริโภคมีการขยายตัวเพียง 0.3% ในไตรมาส 1 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 7 ปี และเป็นสาเหตุที่ทำให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 1 ของสหรัฐมีการขยายตัวเพียง 1.2% ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2-3% ในไตรมาส 2
นอกจากนี้ รายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนเม.ย. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนมี.ค.
หากปรับค่าตามเงินเฟ้อ รายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนเม.ย.
ส่วนมูลค่าการออมของผู้บริโภคสหรัฐ ทรงตัวที่ระดับ 7.591 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย.
ขณะเดียวกัน ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากร่วงลง 0.2% ในเดือนมี.ค.
เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE ดีดตัวขึ้น 1.7% ในเดือนเม.ย. หลังจากพุ่งขึ้น 1.9% ในเดือนมี.ค.
นอกจากนี้ ดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนเม.ย. หลังจากลดลง 0.1% ในเดือนมี.ค.
เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE พื้นฐาน เพิ่มขึ้น 1.5% ในเดือนเม.ย. หลังจากปรับตัวขึ้น 1.6% ในเดือนมี.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี PCE พื้นฐาน ยังคงอยู่ห่างไกลจากระดับ 2.0% ซึ่งเป็นระดับเป้าหมายเงินเฟ้อของเฟด
ส่วนผลสำรวจของสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์/เคส ชิลเลอร์ระบุว่า ราคาบ้านในสหรัฐเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดในเดือนมี.ค. แต่ก็ยังแตะระดับสูงสุดในรอบ 33 เดือน โดยได้แรงหนุนจากสต็อกบ้านที่อยู่ในระดับต่ำ
ทั้งนี้ ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.8% ในเดือนมี.ค. ขณะนักวิเคราะห์คาดว่าจะพุ่งขึ้น 5.9%
ส่วนดัชนีราคาบ้านใน 20 เมืองของสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.9% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2014
ราคาบ้านเพิ่มขึ้นสูงสุดในเมืองซีแอตเติล, พอร์ทแลนด์ และดัลลัส