ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (14 มิ.ย.) หลังจากที่ประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ พร้อมกับส่งสัญญาณการปรับลดงบดุลบัญชีของเฟดในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ร่วงลงกว่า 3% และข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงยอดค้าปลีกที่ปรับตัวลงสวนทางกับตัวเลขคาดการณ์นั้น ได้สกัดแรงบวกในตลาด และได้ฉุดดัชนี Nasdaq และ S&P500 ปิดในแดนลบ
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 21,374.56 จุด เพิ่มขึ้น 46.09 จุด หรือ +0.22% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,437.92 จุด ลดลง 2.43 จุด หรือ -0.10% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,194.89 จุด ลดลง 25.48 จุด หรือ -0.41%
ดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาดปรับตัวขึ้น หลังจากที่ประชุมเฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ พร้อมกับส่งสัญญาณเกี่ยวกับแผนการปรับลดงบดุลบัญชีของเฟด ซึ่งนับเป็นความเคลื่อนไหวที่ชัดเจน และช่วยให้ตลาดคลายความกังวลเกี่ยวกับทิศทางด้านนโยบายการเงินของเฟด
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐมีมติด้วยคะแนนเสียง 8-1 เสียง เห็นพ้องให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 1.00-1.25% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้
แถลงการณ์ของเฟดระบุว่า เฟดจะยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย เพื่อสนับสนุนความแข็งแกร่งของตลาดแรงงาน และผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน ซึ่งเฟดคาดว่าจะแตะระดับดังกล่าวในปี 2018
นอกจากนี้ เฟดคาดการณ์ว่าจะเริ่มปรับลดงบดุลในปีนี้ หากเศรษฐกิจมีการปรับตัวตามที่เฟดคาดการณ์ ซึ่งการปรับลดงบดุลของเฟด จะส่งผลให้เฟดลดการถือครองพันธบัตร และหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน (MBS) ที่เฟดได้เข้าซื้อในตลาดในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
เฟดระบุว่า ในเบื้องต้นเฟดจะจำกัดเพดานการลดวงเงินการถือครองพันธบัตรรัฐบาลที่ระดับ 6 พันล้านดอลลาร์/เดือน ก่อนที่จะขยายเพดานการลดการถือครองพันธบัตรอีก 6 พันล้านดอลลาร์ในทุกๆ ไตรมาสในช่วงระยะเวลา 12 เดือน จนกระทั่งแตะระดับ 3 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน
อย่างไรก็ตาม ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดร่วงลง หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ซึ่งรวมถึงยอดค้าปลีกเดือนพ.ค.ที่ปรับตัวลดลง 0.3% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2016 และสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ร่วงลง 0.1% ในเดือนพ.ค. สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% และสต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจร่วงลง 0.2% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงหนักสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.ปีที่แล้ว และลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนต.ค.ปีที่แล้ว
นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ร่วงลง 3.7% เมื่อคืนนี้ หลังจากสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลงน้อยกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว โดยหุ้นเอ็กซอน โมบิล ร่วงลง 1.1% หุ้นทรานส์โอเชียน ดิ่งลง 5.1% หุ้นเมอร์ฟีย์ ออยล์ ร่วงลง 5.4% หุ้นเนชั่นแนล ออยล์เวลล์ วาร์โค ร่วงลง 4.9% และหุ้นอนาดาโค ปิโตรเลียม ดิ่งลง 3.9%
หุ้นยูไนเต็ด พาร์เซล เซอร์วิส (UPS) ปรับตัวลง 0.4% หลังจากเกิดเหตุกราดยิงที่โรงงานของ UPS ที่เมืองซานฟรานซิสโกเมื่อวานนี้ ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 คน
นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยในวันนี้จะมีการเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ราคานำเข้าและส่งออกเดือนพ.ค., ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือนมิ.ย.จากเฟดนิวยอร์ก และการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. ส่วนในวันพรุ่งนี้จะมีการเปิดเผยตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนพ.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน