ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (29 มิ.ย.) โดยดาวโจนส์ และ S&P500 ปรับตัวลงหนักสุดในรอบ 6 สัปดาห์ หลังจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลง ซึ่งได้สกัดปัจจัยบวกจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคาร และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 1 ของสหรัฐที่ขยายตัวแข็งแกร่งกว่าการคาดการณ์ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 21,287.03 จุด ร่วงลง 167.58 จุด หรือ -0.78% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,419.70 จุด ลดลง 20.99 จุด หรือ -0.86% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,144.35 จุด ลดลง 90.06 จุด หรือ -1.44%
ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงอย่างหนักของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยหุ้นเฟซบุ๊ก ร่วงลง 1.4% หุ้นอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล ร่วงลง 2.4% หุ้นแอดวานซ์ ไมโคร ดิไวซ์ ดิ่งลง 4.8% หุ้นแลม รีเสิร์ช ร่วงลง 3.7% หุ้นแอปเปิล ปรับตัวลง 1.5% นักวิเคราะห์จากฟีนิกซ์ ไฟแนนเซียล เซอร์วิสกล่าวว่า ปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในขณะนี้ มาจากความวิตกกังวลที่ว่า หุ้นบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่อาจมีมูลค่าสูงเกินไป และมีแนวโน้มที่จะเผชิญความผันผวนหากเศรษฐกิจชะลอตัวลง ขณะที่นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งมองว่า หุ้นเทคโนโลยีปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งและอยู่ในช่วงขาขึ้นมานานแล้ว นักลงทุนจึงเริ่มมองหาเหตุผลที่จะขายทำกำไร
ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเป็นกลุ่มที่ทะยานขึ้นมากที่สุดตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยพุ่งขึ้นมากกว่า 15% แต่ในเดือนนี้หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีได้ร่วงลงไปแล้วเกือบ 2%
การร่วงลงของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีได้สกัดปัจจัยบวกจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคาร และรายงานของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐซึ่งระบุว่า ตัวเลขประมาณครั้งที่ 3 ของจีดีพีประจำไตรมาส 1 อยู่ที่ระดับ 1.4% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 1.2%
หุ้นโกลด์แมน แซคส์ ปรับตัวขึ้น 0.5% หุ้นเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค พุ่งขึ้น 1.5% หุ้นซิตี้กรุ๊ป พุ่งขึ้น 2.8% หุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา ปรับตัวขึ้น 1.8% และหุ้นเรเจียนส์ ไฟแนนเชียล พุ่งขึ้น 4%
สำหรับปัจจัยที่ช่วยหนุนหุ้นกลุ่มธนาคารพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งนั้น มาจากรายงานที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้อนุมัติให้ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐทั้ง 34 แห่ง สามารถเดินหน้าแผนเพิ่มการจ่ายเงินปันผล และซื้อหุ้นคืนได้ หลังจากที่ธนาคารเหล่านี้ได้ผ่านการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ประจำปีรอบที่ 2 ของเฟด ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี
นักลงทุนจับตาทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) หลังจากนายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการ BoE ส่งสัญญาณถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการยกเลิกมาตรการกระตุ้นทางการเงิน โดยกล่าวว่า มีแนวโน้มที่ BoE จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเศรษฐกิจกำลังขยายตัวใกล้เต็มศักยภาพ โดย BoE จะหารือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า
ขณะที่นายมาริโอ ดรากี ประธาน (ECB ก็ได้ส่งสัญญาณเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน โดยกล่าวว่า ECB ควรปรับนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ และนโยบายซื้อพันธบัตรจำนวนมาก ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น
นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในวันนี้ ซึ่งได้แก่ การใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนพ.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน