ดาวโจนส์เปิดแดนบวก นักลงทุนลดคาดการณ์เฟดขึ้นดบ. หลังสหรัฐเผยจ้างงานต่ำกว่าคาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 1, 2017 20:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์เปิดแดนบวกในวันนี้ แม้สหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรต่ำกว่าคาดในเดือนส.ค. แต่ก็ส่งผลให้นักลงทุนลดคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในปีนี้

CME Group ระบุว่า จากการใช้เครื่องมือ FedWatch วิเคราะห์ภาวะการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ พบว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยตลอดทั้งปีนี้ และจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง จนกว่าจะถึงเดือนมิ.ย.ปีหน้า

ขณะเดียวกัน นักลงทุนคาดว่าเฟดจะเริ่มปรับลดงบดุลวงเงิน 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ในการประชุมวันที่ 19-20 ก.ย. โดยจะลดการถือครองพันธบัตรจากพอร์ทของเฟด

ณ เวลา 20.54 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 22,002.05 จุด เพิ่มขึ้น 53.95 จุด หรือ 0.25%

หุ้นกลุ่มสินค้าเพื่อผู้บริโภคพุ่งขึ้นนำตลาดวันนี้ ขณะที่หุ้นไนกี้ทะยานขึ้นมากที่สุดในการซื้อขายช่วงแรก

กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 156,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. ขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.4% จาก 4.3% ในเดือนก.ค.

นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 180,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. และอัตราว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 4.3%

นอกจากนี้ ตัวเลขรายได้ต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน หรือค่าแรงต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนส.ค. ขณะที่เพิ่มขึ้น 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ทั้งนี้ ตัวเลขรายได้ต่อชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ

กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ทบทวนปรับลดตัวเลขการจ้างงานในเดือนก.ค. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 189,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 209,000 ตำแหน่ง และทบทวนปรับลดตัวเลขจ้างงานในเดือนมิ.ย. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 210,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 231,000 ตำแหน่ง

กระทรวงแรงงานสหรัฐระบุว่าในเดือนส.ค. ภาคเอกชนมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 165,000 ตำแหน่ง ขณะที่ภาครัฐจ้างงานลดลง 9,000 ตำแหน่ง

นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจในวันนี้ ซึ่งได้แก่ ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนส.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคการผลิตเดือนส.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), การใช้จ่ายภาคการก่อสร้างเดือนก.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนส.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ