ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (10 ต.ค.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับผู้นำแคว้นกาตาลุญญาที่เดินหน้าเจตนารมณ์ในการแยกตัวเป็นอิสรภาพจากสเปน ซึ่งความกังวลดังกล่าวได้ฉุดดัชนีตลาดหุ้นสเปนร่วงลงด้วย อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับปัจจัยหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มสินค้าหรู หลังจากบริษัทหลุยส์ วิตตอง เปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งในไตรมาส 3
ดัชนี Stoxx Europe 600 ขยับลง 0.01% ปิดที่ 390.16 จุด
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,949.25 จุด ลดลง 27.15 จุด หรือ -0.21% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,363.65 จุด ลดลง 2.18 จุด หรือ -0.04% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,538.27 จุด เพิ่มขึ้น 30.38 จุด หรือ +0.40%
นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในสเปน พร้อมกับจับตานายคาร์เลส ปุกเดมองต์ ผู้นำแคว้นกาตาลุญญาที่จะขึ้นกล่าวอภิปรายในรัฐสภาแคว้นกาตาลุญญา
ทั้งนี้ หลังจากที่ตลาดหุ้นยุโรปปิดทำการได้ไม่นาน นายปุกเดเมองต์ได้ขึ้นกล่าวอภิปรายในรัฐสภา พร้อมกับประกาศอิสรภาพแยกตัวจากสเปน เพื่อเคารพต่อมติของชาวคาตาลันที่ใช้สิทธิลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชจากสเปน
อย่างไรก็ดี นายปุกเดมองต์ได้เรียกร้องให้รัฐสภาระงับการบังคับใช้ผลที่จะตามมาจากการประกาศอิสรภาพ เพื่อเปิดทางสำหรับการเจรจากับรัฐบาลสเปนเพื่อให้มีการบรรลุข้อตกลง โดยเขากล่าวว่า "ความสัมพันธ์ในขณะนี้ระหว่างกาตาลุญญาและสเปนอยู่ในภาวะที่ไม่ยั่งยืน เราจำเป็นต้องมีเวลาสำหรับการเจรจา"
ความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในสเปนส่งผลให้ดัชนี IBEX 35 ตลาดหุ้นสเปน ปรับตัวลง 0.9% โดยหุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลง เช่นหุ้นบังโค ซานตานเดร์ ดิ่งลง 2.9% และหุ้นบีบีวีเอ ปรับตัวลง 0.6%
อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับปัจจัยหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มสินค้าหรู นำโดยหุ้นหลุยส์ วิตตอง พุ่งขึ้น 2.2% หลังจากบริษัทเปิดเผยรายได้ในไตรมาส 3 ทะยานขึ้น 14% เนื่องจากธุรกิจในทุกภาคส่วนของบริษัทมีการเติบโตที่แข็งกร่ง ขณะที่หุ้นคริสเตียน ดิออร์ พุ่งขึ้น 1.7% หุ้นแอร์เมส อินเตอร์เนชันแนล ปรับตัวขึ้น 1% และหุ้น Cie. Financiere Richemont ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของคาร์เทียร์ ปรับตัวขึ้น 1% เช่นกัน
นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหนุนในระหว่างวัน หลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนี (FSO) เปิดเผยว่า การส่งออกของเยอรมนีพุ่งขึ้น 7.2% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่การนำเข้าดีดตัวขึ้น 8.5%
ทั้งนี้ FSO ระบุว่า การส่งออกอยู่ที่ระดับ 1.031 แสนล้านยูโร (1.2146 แสนล้านดอลลาร์) ในเดือนส.ค. ขณะที่การนำเข้าอยู่ที่ระดับ 8.3 หมื่นล้านยูโร (9.778 หมื่นล้านดอลลาร์) ส่งผลให้เยอรมนีมีตัวเลขเกินดุลการค้า 2 หมื่นล้านยูโร (2.356 หมื่นล้านดอลลาร์)