ดาวโจนส์บวกรับผลประกอบการสดใส, เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวเกินคาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 27, 2017 21:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นในวันนี้ ขานรับผลประกอบการที่สดใส รวมทั้งตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ

ณ เวลา 21.10 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 23,420.55, จุด เพิ่มขึ้น 19.69 จุด หรือ 0.08%

ดัชนี Nasdaq ทะยานกว่า 1% ในวันนี้ หลังบริษัทอเมซอน, ไมโครซอฟต์ และอัลฟาเบท ต่างรายงานผลประกอบการที่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศพุ่งขึ้นนำตลาดในปีนี้ โดยดีดตัวขึ้น 30% ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้น 15%

สัปดาห์นี้ถือเป็นสัปดาห์การเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่คึกคักที่สุด โดยบริษัทที่คำนวณในดัชนี S&P 500 ถึง 1 ใน 3 ได้เปิดเผยผลประกอบการในสัปดาห์นี้

บริษัทเอ็กซอน โมบิล คอร์ป เปิดเผยว่า บริษัทมีกำไร และรายได้ในไตรมาส 3 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

ทั้งนี้ เอ็กซอน โมบิล ระบุว่า บริษัทมีกำไร 93 เซนต์/หุ้น สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 86 เซนต์/หุ้น

นอกจากนี้ บริษัทมีรายได้ 6.616 หมื่นล้านดอลลาร์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 6.339 หมื่นล้านดอลลาร์

ขณะเดียวกัน การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 3 ที่สูงกว่าคาด ก็ได้เป็นปัจจัยหนุนตลาดในวันนี้

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3 ที่ระดับ 3.0% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.5%

การขยายตัวของเศรษฐกิจได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของการลงทุนในสินค้าคงคลัง และการขาดดุลการค้าที่ลดลง แม้การใช้จ่ายของผู้บริโภค และการลงทุนในภาคก่อสร้างได้ชะลอตัวลงจากอิทธิพลของพายูเฮอร์ริเคนฮารวีย์ และเออร์มา

ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 3.1% ในไตรมาส 2

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐระบุว่า แม้จะเป็นเรื่องยากในการประเมินความเสียหายโดยรวมของพายูเฮอร์ริเคนฮารวีย์ และเออร์มาต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 3 แต่การประมาณการเบื้องต้นพบว่าพายูเฮอร์ริเคนได้สร้างความสูญเสียต่อสินทรัพย์คงที่ของภาคเอกชนราว 1.21 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่สินทรัพย์คงที่ของภาครัฐเสียหายราว 1.04 หมื่นล้านดอลลาร์

กระทรวงพาณิชย์ยังเปิดเผยว่า การลงทุนในสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.58 หมื่นล้านดอลลาร์ และมีส่วนช่วยหนุนตัวเลข GDP ในไตรมาส 3 คิดเป็นสัดส่วน 0.73%

การส่งออกเพิ่มขึ้น 2.3% ขณะที่การนำเข้าลดลง 0.8% ส่งผลให้การขาดดุลการค้าลดลง และมีส่วนช่วยหนุนตัวเลข GDP ในไตรมาส 3 คิดเป็นสัดส่วน 0.41%

อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายของผู้บริโภคชะลอตัวลงสู่ระดับ 2.4% หลังจากพุ่งขึ้น 3.3% ในไตรมาส 2


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ