ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นกว่า 100 จุด ทะลุระดับ 24,000 จุด แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ก่อนที่วุฒิสภาสหรัฐจะลงมติต่อร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีในวันนี้
ณ เวลา 21.40 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 24,067.05 จุด เพิ่มขึ้น 126.37 จุด หรือ 0.53%
หุ้นกลุ่มการเงินพุ่งขึ้นนำตลาดวันนี้ ขณะที่หุ้นโกลด์แมน แซคส์ทะยานขึ้นมากที่สุดในการซื้อขายช่วงแรก
นักลงทุนจับตาวุฒิสภาสหรัฐซึ่งจะลงมติต่อร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีในวันนี้
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการงบประมาณประจำวุฒิสภาสหรัฐ มีมติผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีของพรรครีพับลิกันก่อนหน้านี้ ด้วยคะแนนเสียง 12 ต่อ 11 เสียง ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญก่อนที่ร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกส่งให้กับวุฒิสภาเต็มคณะทำการพิจารณา
การอนุมัติร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีจากคณะกรรมาธิการงบประมาณประจำวุฒิสภาสหรัฐ ถือเป็นสัญญาณบวกที่สะท้อนให้เห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีแนวโน้มที่จะผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาเต็มคณะในการลงมติวันนี้
หากวุฒิสภาให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีในวันนี้ สภาคองเกรสสหรัฐก็จะต้องรวมร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรเป็นร่างเดียวกัน ก่อนที่จะส่งต่อไปให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ลงนามเป็นกฎหมายต่อไป
ราคาหุ้นเซียร์ส โฮลดิ้งส์ ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าชื่อดังของสหรัฐ และเป็นเจ้าของห้างเซียร์ส และเคมาร์ท พุ่งขึ้นกว่า 13% ในวันนี้ หลังจากบริษัทประกาศผลขาดทุนในไตรมาส 3 ที่ต่ำกว่าในปีที่แล้ว
ทั้งนี้ บริษัทมีตัวเลขขาดทุนสุทธิที่ระดับ 558 ล้านดอลลาร์ หรือ 5.19 ดอลลาร์/หุ้นในไตรมาส 3 เมื่อเทียบกับตัวเลขขาดทุน 748 ล้านดอลลาร์ หรือ 6.99 ดอลลาร์/หุ้นในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
อย่างไรก็ดี บริษัทมียอดขาย 3.7 พันล้านดอลลาร์ ลดลงจากระดับ 5 พันล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
นักลงทุนจับตาการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปกในวันนี้ ขณะที่มีการคาดการณ์กันว่าที่ประชุมจะเห็นพ้องกันให้ขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันจนถึงสิ้นปีหน้า
ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 ในสัปดาห์ที่แล้ว โดยลดลง 2,000 ราย สู่ระดับ 238,000 ราย
นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 240,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว
ตัวเลขผู้ที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกยังคงอยู่ต่ำกว่า 300,000 ราย เป็นสัปดาห์ที่ 143 ติดต่อกัน ซึ่งยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2513
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนต.ค. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากพุ่งขึ้น 0.9% ในเดือนก.ย.
หากมีการปรับค่าตามเงินเฟ้อ การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐขยับขึ้น 0.1% ในเดือนต.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนก.ย.
รายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนต.ค. หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.4% เช่นเดียวกันในเดือนก.ย.
นอกจากนี้ ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนต.ค. หลังจากที่เพิ่มขึ้นในอัตราดังกล่าวในเดือนก.ย.
เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 1.4% ในเดือนต.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 1.4% เช่นเดียวกันในเดือนก.ย.
ทั้งนี้ ดัชนี PCE พื้นฐาน ยังคงอยู่ห่างไกลจากระดับ 2.0% ซึ่งเป็นระดับเป้าหมายเงินเฟ้อของเฟด โดยได้อยู่ต่ำกว่าระดับดังกล่าวในช่วงเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา