ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (18 ธ.ค.) โดยดัชนีหลักทั้ง 3 ดัชนีปิดทำนิวไฮ ขานรับความหวังที่ว่า สภาคองเกรสสหรัฐจะผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีขั้นสุดท้ายในสัปดาห์นี้ ก่อนที่จะส่งต่อไปให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามรับรองเป็นกฎหมายก่อนวันคริสต์มาส นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยหนุนจากรายงานที่ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในกลุ่มผู้สร้างบ้านของสหรัฐพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 18 ปี ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2560 ของสหรัฐในวันพฤหัสบดีนี้
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,792.20 จุด พุ่งขึ้น 140.46 จุด หรือ +0.57% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,690.16 จุด เพิ่มขึ้น 14.35 จุด หรือ +0.54% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,994.76 จุด เพิ่มขึ้น 58.18 จุด หรือ +0.84%
ดัชนีดาวโจนส์, Nasdaq และ S&P500 ปิดพุ่งขึ้นทำนิวไฮในวันเดียวกันอีกครั้ง เนื่องจากนักลงทุนมีมุมมองที่เป็นบวกเกี่ยวกับการผลักดันร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีของสหรัฐ โดยนายจอห์น คอร์นิน แกนนำพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาสหรัฐ ได้แสดงความเชื่อมั่นว่า วุฒิสภาจะให้การอนุมัติร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีขั้นสุดท้ายในการลงมติซึ่งอาจจะมีขึ้นในวันนี้ ขณะที่นายเควิน แบรดี้ ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาวิธีการจัดหารายได้ของสภาผู้แทนราษฎร และเป็นผู้นำในการร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ กล่าวว่า เขาเชื่อว่าพรรครีพับลิกันมีคะแนนเสียงในมือที่จะผลักดันร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีฉบับดังกล่าว
ทั้งนี้ พรรครีพับลิกันได้เปิดเผยรายละเอียดขั้นสุดท้ายของร่างกฎหมายปฏิรูปภาษี ซึ่งมาจากการรวมเนื้อหาของร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีที่ผ่านการอนุมัติของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรก่อนหน้านี้ โดยร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีขั้นสุดท้ายจะยังคงจำนวนขั้นบันไดของการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้ที่ 7 ขั้น แต่ลดอัตราภาษีขั้นสูงสุดสู่ระดับ 37% จากระดับ 39.6% ขณะเดียวกัน จะปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ลงสู่ระดับ 21% จากระดับ 35% โดยมีผลบังคับใช้ทันทีในวันที่ 1 ม.ค.ปีหน้า แทนที่จะชะลอออกไปอีก 1 ปีตามร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีของวุฒิสภา
หากร่างกฎหมายดังกล่าวสามารถผ่านสภาคองเกรสในสัปดาห์นี้ ก็จะถือเป็นการปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ที่สุดของสหรัฐนับตั้งแต่ปี 2529 หรือกว่า 30 ปี และจะถือเป็นชัยชนะครั้งแรกของปธน.ทรัมป์และพรรครีพับลิกันในสภาคองเกรส นับตั้งแต่ที่ปธน.ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งในเดือนม.ค.
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังได้ปัจจัยหนุนจากรายงานของสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐซึ่งระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านดีดตัวขึ้น 5 จุด สู่ระดับ 74 ในเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2542 จากการใช้นโยบายใหม่ที่อำนวยความสะดวกแก่ธุรกิจสร้างบ้าน
หุ้นกลุ่มการเงินดีดตัวขึ้น โดยหุ้นธนาคารเวลส์ ฟาร์โก พุ่งขึ้น 1.8% หุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา ปรับตัวขึ้น 1.5%
ส่วนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีรายใหญ่พุ่งขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนดัชนี Nasdaq ปิดตลาดทำนิวไฮ โดยหุ้นแอปเปิล ดีดตัวขึ้น 1.4% หุ้นอเมซอนดอทคอม พุ่งขึ้น 1% ส่วนหุ้นทวิตเตอร์ ทะยานขึ้น 11% หลังจากนักวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกน ได้ปรับเพิ่มน้ำหนักความน่าลงทุนของหุ้นทวิตเตอร์ สู่ระดับ "buy" จากระดับ "neutral" โดยระบุว่า ทวิตเตอร์ได้มีการพัฒนาฟีเจอร์ครั้งสำคัญ ซึ่งรวมถึงไลฟ์วีดิโอแบบใหม่ พร้อมกับอินเทอร์เฟซที่ใช้งานง่ายขึ้น
นักลงทุนจับตาสภาคองเกรสสหรัฐซึ่งเตรียมอนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณระยะสั้น เพื่อให้รัฐบาลมีงบประมาณในการใช้จ่ายจนถึงเดือนม.ค.2561 โดยสภาคองเกรสจำเป็นต้องอนุมัติงบประมาณดังกล่าวให้ทันเส้นตายภายในวันศุกร์นี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการปิดหน่วยงานของรัฐ หรือชัตดาวน์
ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตากระทรวงพาณิชย์สหรัฐเตรียมเปิดเผยการประมาณการครั้งสุดท้ายของ GDP ประจำไตรมาส 3/2560 ในวันพฤหัสบดีนี้ ส่วนการประมาณการครั้งที่ 2 ซึ่งได้เปิดเผยไปเมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมานั้น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐระบุว่า GDP ขยายตัวที่ระดับ 3.3% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ที่ระดับ 3.0%
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่จะเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนพ.ย., ยอดขายบ้านมือสองเดือนพ.ย., ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 (ประมาณการครั้งสุดท้าย), ดัชนีกิจกรรมเศรษฐกิจทั่วประเทศเดือนพ.ย.จากเฟดชิคาโก, ดัชนีการผลิตเบื้องต้นเดือนธ.ค.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนพ.ย., ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนพ.ย., ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธ.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน และยอดขายบ้านใหม่เดือนพ.ย.