ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดดีดตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ (19 ม.ค.) ขณะที่ดัชนี S&P และ Nasdaq ปิดทำนิวไฮ โดยภาวะการซื้อขายได้ปัจจัยหนุนจากมุมมองที่เป็นบวกเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและผลประกอบการของบริษัทต่างๆ ส่วนความเป็นไปได้ที่สภาคองเกรสสหรัฐอาจไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวได้ทันเส้นตายในวันศุกร์ ซึ่งจะส่งผลให้มีการปิดหน่วยงานของรัฐบาล หรือ ชัตดาวน์นั้น ไม่ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับนักลงทุนเท่าไรนัก
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,071.72 จุด เพิ่มขึ้น 53.91 จุด หรือ 0.21% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,810.30 จุด เพิ่มขึ้น 12.27 จุด หรือ 0.44% และดัชนี Nasdaq ปิดที่7,336.38 จุด เพิ่มขึ้น 40.33 จุด หรือ 0.55%
สำหรับทั้งสัปดาห์ ทั้งสามดัชนีปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่สามติดต่อกัน โดยดาวโจนส์และ Nasdaq ปรับตัวขึ้น 1% ขณะที่ S&P เพิ่มขึ้น 0.9%
ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการชัตดาวน์ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการซื้อขายมากนัก โดยความเคลื่อนไหวล่าสุดในเรื่องนี้นั้น มีรายงานว่า นายชัค ชูเมอร์ ผู้นำพรรคเดโมแครตในวุฒิสภา ได้เดินทางไปยังทำเนียบขาวเพื่อพบกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หลังจากที่ปธน.ทรัมป์ได้โทรศัพท์หานายชูเมอร์เพื่อเชิญเข้าพบและหารือเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงการปิดหน่วยงานรัฐบาล (ชัตดาวน์) ที่จะเกิดขึ้น หากวุฒิสภาสหรัฐไม่อนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวทันกำหนดเส้นตายเที่ยงคืนวันศุกร์ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับเที่ยงวันวันเสาร์ตามเวลาไทย
ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติด้วยคะแนนเสียง 230 ต่อ 197 อนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวเมื่อคืนวันพฤหัสบดีตามเวลาสหรัฐ ก่อนที่จะส่งให้วุฒิสภาพิจารณาในวันศุกร์ อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่า วุฒิสภาจะผ่านร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวฉบับนี้หรือไม่ เนื่องจากมีวุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครต และพรรครีพับลิกันหลายคนกล่าวว่า พวกเขาจะโหวตคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้
ขณะนี้ พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก 51-49 เสียงในวุฒิสภา และร่างกฎหมายดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 60 เสียงเพื่อผ่านวุฒิสภาภายในวันศุกร์ หากวุฒิสภาไม่อนุมัติร่างกฎหมายดังกล่าว ก็จะส่งผลให้สหรัฐต้องปิดหน่วยงานรัฐบาลเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ ซึ่งจะเป็นวันครบรอบการดำรงตำแหน่ง 1 ปีของปธน.ทรัมป์
นักวิเคราะห์กล่าวว่า หากพิจารณาจากกรณีชัตดาวน์ในอดีตที่ผ่านมานั้น จะเห็นได้ว่านักลงทุนไม่ได้วิตกกังวลกับเรื่องนี้เท่าไรนัก เพราะการชัตดาวน์ไม่ได้ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก หรือส่งผลกระทบต่อจีดีพีมากนัก ซึ่งสอดคล้องกับที่ฟิทช์ เรทติ้งส์ ออกมาระบุว่า การชัตดาวน์จะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสหรัฐ
ขณะเดียวกัน ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กวันศุกร์ ได้แรงหนุนจากสกุลเงินดอลลาร์ที่เคลื่อนไหวใกล้ระดับต่ำสุดในรอบสามปี ซึ่งนักลงทุนมองว่าจะเป็นผลดีต่อผลกำไรของบริษัทจดทะเบียน
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยในวันศุกร์ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 94.4 ในกลางเดือนม.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าดัชนีจะดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 97.0 หลังจากอยู่ที่ระดับ 95.9 ในเดือนธ.ค.
ก่อนหน้านี้ ดัชนีความเชื่อมั่นพุ่งขึ้นแตะ 101.1 ในวันที่ 13 ต.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี ก่อนที่จะร่วงลงหลังจากนั้น
นายริชาร์ด เคอร์ติน หัวหน้านักวิเคราะห์สำหรับการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค กล่าวว่า ผู้บริโภคกังวลต่อความล่าช้าในการได้รับอานิสงส์จากมาตรการปฏิรูปภาษี
หุ้นกลุ่มค้าปลีก ธนาคาร และสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวขึ้น ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลดลงตามทิศทางราคาน้ำมัน ด้านหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคปรับตัวลงเช่นกัน
หุ้นแมทเทลบวก 6% หุ้นฟิลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล บวก 3.7% หุ้นแคมป์เบล บวก 2.5%
หุ้นไอบีเอ็มร่วง 4% แม้เผยผลประกอบการไตรมาสสี่แข็งแกร่ง หุ้นอเมริกัน เอ็กซ์เพรส ลดลง 1.8% หลังจากที่บริษัทระงับโครงการซื้อหุ้นคืนเป็นเวลาหกเดือน