ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นกว่า 300 จุดในวันนี้ โดยฟื้นตัวขึ้น หลังจากทรุดตัวลงหนักที่สุดในสัปดาห์ที่แล้วในรอบ 2 ปี ขณะที่ได้รับแรงหนุนจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ในวันนี้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ
นายมิค มัลวานีย์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณของทำเนียบขาว เปิดเผยว่า ทำเนียบขาวเตรียมเสนองบประมาณต่อสภาคองเกรสในวันนี้ ซึ่งครอบคลุมถึงงบประมาณสำหรับการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ และอีก 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อยกระดับการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ชายแดน นอกจากนี้ แผนงบประมาณดังกล่าวยังรวมถึงข้อเสนอในการปรับลดการขาดดุลงบประมาณลง 3 ล้านล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 10 ปี
ณ เวลา 21.40 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 24,514.42 จุด เพิ่มขึ้น 323.52 จุด หรือ 1.34%
หุ้นกลุ่มพลังงาน และการเงินพุ่งขึ้นนำตลาดวันนี้
ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 5.2% ในสัปดาห์ที่แล้ว โดยเป็นการปรับตัวย่ำแย่ที่สุดรายสัปดาห์นับตั้งแต่เดือนม.ค.2559 ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน โดยมีการทรุดตัวลงกว่า 1,000 จุดเป็นเวลา 2 วัน ขณะที่พุ่งขึ้นกว่า 300 จุดเป็นเวลา 2 วันเช่นกัน
นักลงทุนมีความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อ ขณะที่จับตาการปรับตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 ปีครั้งใหม่ในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนยังคงส่งแรงขายในตลาดพันธบัตร ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการดีดตัวขึ้นของเงินเฟ้อในสหรัฐ หลังเศรษฐกิจมีการขยายตัวที่แข็งแกร่ง
ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 2.902% ในวันนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.194%
ราคาพันธบัตร และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวในทิศทางตรงกันข้ามกัน
นายโรเบิร์ต กริฟฟิน หัวหน้านักวิเคราะห์ของอีซียู กรุ๊ป กล่าวว่า ความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และภาวะตลาดพันธบัตรในปัจจุบัน ทำให้นักลงทุนไม่ได้มองว่าพันธบัตรเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย หรือเป็นแหล่งลงทุนทางเลือกในขณะที่ตลาดหุ้นทรุดตัวลง
"ก่อนหน้านี้ ในเวลาที่ตลาดหุ้นเปลี่ยนจากภาวะกระทิงเป็นภาวะหมี นักลงทุนก็จะหันหน้าเข้าสู่ตลาดพันธบัตร แต่ตอนนี้ไม่เหมือนเดิมแล้ว โดยอัตราดอกเบี้ยกำลังดีดตัวขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่ง และเงินเฟ้อปรับตัวขึ้น พันธบัตรรัฐบาลจึงไม่ได้เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยอีกต่อไป" นายกริฟฟินกล่าว
ตลาดจับตาการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยนักวิเคราะห์กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่จะชี้ชะตาว่าตลาดหุ้นสหรัฐจะดิ่งลงต่อไป หรือจะฟื้นตัวขึ้น จะขึ้นอยู่กับการเปิดเผยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐ ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนม.ค.ในวันพุธ และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในวันพฤหัสบดี ซึ่งหากตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ก็จะฉุดให้ตลาดหุ้นเผชิญความผันผวน และทรุดตัวลงต่อไป
ทั้งนี้ ดัชนี CPI ดีดตัวขึ้น 2.1% ในเดือนธ.ค.เมื่อเทียบรายปี ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าดัชนีดังกล่าวจะทรงตัวที่ระดับดังกล่าวในเดือนม.ค.
"หากตัวเลข CPI ออกมาสูงกว่าคาด ก็จะสร้างความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นในตลาด แต่ถ้าตัวเลขออกมาต่ำกว่าคาด ก็จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลง และหุ้นก็จะทะยานขึ้น" นายเจสัน แวร์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของอัลเบียน ไฟแนนเชียล กรุ๊ป กล่าว ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทอาจเผชิญภาวะทรุดตัวอย่างหนักอีกครั้งในวันพุธนี้ หากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐพุ่งขึ้นมากกว่าที่คาดไว้
นายปิแอร์ คูร์แรน หัวหน้าฝ่ายซื้อขายหุ้นของบริษัทแอมพลิฟาย เทรดดิ้ง กล่าวว่า ภาวะตลาดจะขึ้นอยู่กับการเปิดเผยตัวเลข CPI ในวันพุธนี้
"ตัวเลข CPI ที่จะมีการประกาศในวันพุธ เป็นตัวเลขเงินเฟ้อที่มีความสำคัญอย่างมาก ถ้าหากตัวเลข CPI อยู่ที่ระดับ 1.9% หรือมากกว่า 2% ก็จะทำให้ตลาดหุ้นถูกเทขายออกมาเหมือนกับในสัปดาห์ที่แล้ว แต่ถ้าตัวเลข CPI อยู่ที่ราว 1.7-1.8% ผมก็คิดว่าตลาดจะสงบลง" เขากล่าว
ทั้งนี้ ดัชนี CPI ส่วนใหญ่ปรับตัวที่ระดับ 1.7% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา