ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (12 มี.ค.) เนื่องจากหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมร่วงลงอย่างหนัก ซึ่งรวมถึงหุ้นโบอิ้ง และหุ้นแคทเธอร์พิลลาร์ หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ ได้ลงนามในคำสั่งเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียม อย่างไรก็ตาม ดัชนี Nasdaq ยังคงปิดในแดนบวก โดยส่วนหนึ่งได้ปัจจัยหนุนจากการที่นักลงทุนยังคงขานรับตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรที่แข็งแกร่งเกินคาดของสหรัฐ
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,178.61 จุด ลดลง 157.13 จุด หรือ -0.62% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,783.02 จุด ลดลง 3.55 จุด หรือ -0.13% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,588.32 จุด เพิ่มขึ้น 27.51 จุด หรือ +0.36%
นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์บอสตัน พาร์ทเนอร์ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาดอ่อนแรงลงเมื่อคืนนี้ มาจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นบริษัทอุตสาหกรรมข้ามชาติ หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดี เพื่อใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กในอัตรา 25% และอลูมิเนียม 10% ยกเว้นแคนาดาและเม็กซิโก
ทั้งนี้ หุ้นโบอิ้งร่วงลง 2.9% ขณะที่หุ้นแคทเธอร์พิลลาร์ ดิ่งลง 2.4% ส่วนหุ้นอุตสาหกรรมตัวอื่นๆปรับตัวลงเช่นกัน รวมถึงหุ้นเอเมอร์สัน อิเล็กทริก หุ้นอีตัน คอร์ป หุ้นเคแอลเอ็กซ์ และหุ้นยูไนเต็ด เทคโนโลยีส์
หุ้นไบโอเจน ร่วงลง 2.2% ขณะที่หุ้นไฟเซอร์ ปรับตัวลง 0.4% หลังจากมีรายงานว่า ไบโอเจนได้บรรลุข้อตกลงซื้อธุรกิจผลิตยาบำบัดรักษาโรคจิตเภท จากบริษัทไฟเซอร์ ในวงเงิน 590 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ดัชนี Nasdaq ยังคงปิดในแดนบวก เนื่องจากนักลงทุนยังคงขานรับรายงานของกระทรวงแรงงานสหรัฐซึ่งระบุว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 313,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบกว่า 1 ปีครึ่ง ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 200,000 ตำแหน่ง
นอกจากนี้ ดัชนี Nasdaq ยังได้รับปัจจัยหนุนหลังจากกระทรวงการคลังสหรัฐได้แสดงความกังวลต่อกรณีที่บริษัทบรอดคอมได้ยื่นข้อเสนอซื้อกิจการควอลคอม อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทเซมิคอนดัคเตอร์รายใหญ่ของสหรัฐ อันเนื่องมาจากเหตุผลด้านความมั่นคง ทั้งนี้ หุ้นบรอดคอม พุ่งขึ้น 3.6% ขณะที่หุ้นควอลคอมปิดตลาดทรงตัว
นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 20-21 มี.ค. ขณะที่ CME Group ระบุว่า จากการใช้เครื่องมือ FedWatch วิเคราะห์ภาวะการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ พบว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่ามีโอกาส 86% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกในปีนี้ และมีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในเดือนมิ.ย. และครั้งที่ 3 ในเดือนก.ย.
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาข้อมูลเงินเฟ้อและข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.พ., ยอดค้าปลีกเดือนก.พ., ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนก.พ., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนม.ค., ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือนมี.ค.จากเฟดนิวยอร์ก, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ราคานำเข้าและส่งออกเดือนก.พ., ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนมี.ค.จากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB), ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนก.พ., การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นเดือนมี.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน