ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเกือบ 400 จุดเมื่อคืนนี้ (29 พ.ค.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในอิตาลีและสเปน ขณะที่มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส เตือนว่าอาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของอิตาลี ถ้าหากรัฐบาลชุดใหม่ของอิตาลีไม่สามารถดำเนินนโยบายการคลังที่จะทำให้หนี้สาธารณะของประเทศลดลงอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับผลกระทบจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มธนาคารในสหรัฐ
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,361.45 จุด ร่วงลง 391.64 จุด หรือ -1.58% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,689.86 จุด ลดลง 31.47 จุด หรือ -1.16% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,396.59 จุด ลดลง 37.26 จุด หรือ -0.50%
นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในอิตาลี หลังจากความพยายามในการเจรจาเพื่อจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนานนั้นยังคงไม่ประสบความสำเร็จ จนทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่าอิตาลีอาจจะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่
นายแซร์โจ มัตตาเรลลา ประธานาธิบดีอิตาลี ประกาศแต่งตั้งนายคาร์โล คอตตาเรลลี อดีตนักเศรษฐศาสตร์วัย 64 ปีประจำกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีของอิตาลีเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยนายคอตตาเรลลีมีภารกิจในการปรับลดหนี้จำนวนมากของประเทศ และเร่งจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ หลังจากที่ความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่างพรรค Five Stars Movement (M5S) และพรรค Northern League ประสบความล้มเหลวเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยนายคอตตาเรลลีคาดว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้
ทางด้านมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ได้ออกรายงานเตือนเมื่อวานนี้ว่า มูดี้ส์จะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของอิตาลี ถ้าหากรัฐบาลชุดใหม่ของอิตาลีไม่สามารถดำเนินนโยบายการคลังที่จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศลดลงอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกเกี่ยวกับเสถียรภาพของรัฐบาลสเปน หลังจากที่พรรคฝ่ายค้านเรียกร้องให้มีการลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี มาริอาโน ราฮอย กรณีทุจริตคอร์รัปชัน โดยจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในรัฐสภาในวันพฤหัสบดี ก่อนที่จะมีการลงมติในวันศุกร์นี้ ขณะที่สื่อของสเปนต่างออกมาเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนด ท่ามกลางความกังวลของตลาดการเงินว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองและความเป็นไปได้ที่จะมีการจัดการเลือกตั้งใหม่นั้น อาจส่งผลให้เกิดภาวะสุญญากาศทางการเมือง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
หุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลงหลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ เนื่องจากนักลงทุนพากันเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับปัจจัยการเมืองในอิตาลีและสเปน โดยแรงซื้อพันธบัตรส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลดลง เนื่องจากราคาพันธบัตรและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวในทิศทางตรงกันข้ามกัน
ทั้งนี้ หุ้นโกลด์แมน แซคส์ ร่วงลง 3.4% หุ้นมอร์แกน สแตนลีย์ ดิ่งลง 5.8% หุ้นเจพีมอร์แกน เชส ร่วงลง 4.3% หุ้นซิตี้กรุ๊ป ดิ่งลง 4% หุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา ร่วงลงกว่า 4% หุ้นสเตท สตรีท คอร์ป ร่วงลง 5.4% และหุ้นพรูเดนเชียล ไฟแนนเชียล ปรับตัวลง 5%
หุ้นอาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง ปรับตัวลง 0.6% หลังจากมีรายงานว่า ไช่เหนียว เน็ตเวิร์ค ซึ่งเป็นบริษัทโลจิสติกส์ในเครืออาลีบาบา ได้เข้าลงทุนมูลค่า 1.38 พันล้านดอลลาร์ ในบริษัทแซททีโอ เอ็กซ์เพรส (เคย์แมน) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านการขนส่งของจีน
อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มธุรกิจสร้างบ้านดีดตัวขึ้น หลังจากสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์/เคส ชิลเลอร์เปิดเผยผลสำรวจซึ่งระบุว่า ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐเพิ่มขึ้น 6.5% ในเดือนมี.ค. โดยหุ้นดีอาร์ ฮอร์ตัน ปรับตัวขึ้น 0.9% ขณะที่หุ้นพัลทธ์กรุ๊ป เพิ่มขึ้น 0.7%
นักลงทุนจับตาความคืบหน้าในการจัดประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำสหรัฐและเกาหลีเหนือ โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ทวีตข้อความล่าสุดว่า นายคิม ยอง ชอล รองประธานคณะกรรมาธิการพรรคแรงงานเกาหลีเหนือ กำลังเดินทางมายังสหรัฐ เพื่อหารือกับนายไมค์ ปอมเปโอ รมว.ต่างประเทศสหรัฐ เกี่ยวกับการประชุมสุดยอดระหว่างปธน.ทรัมป์ และนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้เช่นกัน ซึ่งได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนพ.ค.จาก ADP, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2561 (ประมาณการครั้งที่ 2), สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนเม.ย., รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), รายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนเม.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนเม.ย., ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนเม.ย., ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ค., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนพ.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคการผลิตเดือนพ.ค. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) และยอดขายรถยนต์เดือนพ.ค.