ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นกว่า 100 จุดในวันนี้ นำโดยหุ้นกลุ่มธนาคาร จากคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์หน้า
ณ เวลา 20.51 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 24,904.83 จุด เพิ่มขึ้น 104.85 จุด หรือ 0.42%
หุ้นกลุ่มการเงินพุ่งขึ้นนำตลาดวันนี้ ขณะที่หุ้นโกลด์แมน แซคส์ทะยานขึ้นมากที่สุดในการซื้อขายช่วงแรก โดยหุ้นกลุ่มธนาคารดีดตัวขึ้นจากการคาดการณ์ที่ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่งจะช่วยหนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 12-13 มิ.ย. ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ โดยอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะช่วยหนุนผลประกอบการของธนาคาร
ราคาหุ้นของสายการบินเดลต้า แอร์ไลน์ดิ่งลงกว่า 3% สวนทางตลาดในวันนี้ หลังจากที่ทางบริษัทคาดการณ์ว่าผลกำไรในไตรมาส 2 จะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้น
เดลต้าคาดว่าจะมีกำไร 1.65-1.75 ดอลลาร์/หุ้นในไตรมาส 2 โดยลดลงจากระดับ 1.80-2.0 ดอลลาร์/หุ้นที่คาดไว้ในเดือนเม.ย.
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันนับเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเป็นอันดับ 2 ของสายการบิน รองจากเงินเดือนของพนักงาน
ขณะเดียวกัน นักลงทุนจับตาการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้า เช่น สหภาพยุโรป (EU), แคนาดา และเม็กซิโก หลังจากที่สหรัฐประกาศเรียกเก็บภาษีเหล็กและอลูมิเนียมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่ประเทศคู่ค้าเหล่านี้ก็ประกาศมาตรการตอบโต้เช่นกัน
นอกจากนี้ นักลงทุนเกาะติดการประชุมสุดยอดระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และนาย คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 12 มิ.ย. เพื่อดูว่าที่ประชุมจะสามารถบรรลุข้อตกลงในการปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือได้หรือไม่
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐลดลงอย่างมากในเดือนเม.ย. ท่ามกลางการส่งออกที่พุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์
ทั้งนี้ ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐลดลง 2.1% สู่ระดับ 4.62 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.ปีที่แล้ว โดยต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.9 หมื่นล้านดอลลาร์ และลดลงจากระดับ 4.72 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนมี.ค.
สหรัฐขาดดุลการค้าต่อจีนเพิ่มขึ้น 8.1% สู่ระดับ 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. โดยการนำเข้าจากจีนทรงตัวในเดือนเม.ย. ขณะที่การส่งออกไปยังจีนลดลง 17.1%
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันนี้ว่า ประสิทธิภาพในการผลิตของแรงงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.4% ในไตรมาส 1 เมื่อเทียบรายไตรมาส โดยต่ำกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่รายงานในเดือนที่แล้วที่ระดับ 0.7% และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.6% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.3% ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว ประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานเพิ่มขึ้น 1.3% ในไตรมาส 1
ขณะเดียวกัน ค่าจ้างรายชั่วโมงพุ่งขึ้น 3.3% ในไตรมาส 1 หลังจากที่เพิ่มขึ้น 2.9% ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว ค่าจ้างรายชั่วโมงเพิ่มขึ้น 2.6% ในไตรมาส 1
ส่วนต้นทุนแรงงานต่อหน่วยดีดตัวขึ้น 2.9% ในไตรมาส 1 โดยสูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่รายงานในเดือนที่แล้วที่ระดับ 2.7% หลังจากเพิ่มขึ้น 2.5% ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว ต้นทุนแรงงานต่อหน่วยเพิ่มขึ้น 1.3% ในไตรมาส 1