ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กดาวโจนส์ปิดบวก 119.19 จุด หลังหุ้นพลังงานพุ่งรับผลประชุมโอเปก

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday June 23, 2018 06:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดดีดตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (22 มิ.ย.) หลังจากร่วงลงติดต่อกันมา 8 วัน เช่นเดียวกับดัชนี S&P ที่ปรับตัวขึ้นเช่นกัน โดยตลาดได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มพลังงานที่พุ่งขึ้นตามราคาน้ำมัน ภายหลังจากที่โอเปกมีมติเพิ่มกำลังการผลิตในการประชุมครั้งล่าสุด แต่ไม่ระบุปริมาณชัดเจน ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมากอย่างที่ตลาดกังวลก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ดัชนี Nasdaq ปิดแดนลบ เนื่องจากหุ้นเทคโนโลยีร่วงลง

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,580.89 จุด เพิ่มขึ้น 119.19 จุด หรือ 0.49% ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 2,754.88 จุด เพิ่มขึ้น 5.12 จุด หรือ 0.19% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,692.82 จุด ลดลง 20.14 จุด หรือ -0.26%

สำหรับทั้งสัปดาห์ ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 2% ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงสองสัปดาห์ติดต่อกัน และเป็นการร่วงลงมากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ด้านดัชนี S&P ลดลง 0.9% และดัชนี Nasdaq ลดลง 0.3% หลังจากที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องมาสี่สัปดาห์

ภาวะการซื้อขายในวันศุกร์นั้นได้ปัจจัยหนุนจากหุ้นกลุ่มพลังงานที่พุ่งขึ้น 2.2% โดยนักลงทุนพากันเข้าซื้อหุ้นบริษัทน้ำมัน หลังราคาน้ำมันดิบทะยานขึ้น ภายหลังกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ได้ออกแถลงการณ์หลังการประชุมกำหนดนโยบายการผลิต ที่กรุงเวียนนา วานนี้ โดยระบุว่าโอเปกจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน แต่ไม่มีการระบุปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

แถลงการณ์โอเปกระบุว่า เนื่องจากสมาชิกบางประเทศได้ลดกำลังการผลิตมากกว่าที่ได้ตกลงกันไว้ในเดือนพ.ย.2559 ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติให้สมาชิก 12 ประเทศจากทั้งหมด 14 ประเทศ เพิ่มกำลังการผลิต เพื่อให้ตัวเลขความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันกลับสู่จำนวน 1.2 ล้านบาร์เรล/วันที่ตกลงกันไว้ในเดือนพ.ย.2559

ก่อนหน้านี้ โอเปกมีมติขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 1.2 ล้านบาร์เรล/วันจนถึงสิ้นปีนี้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน อย่างไรก็ดี สมาชิกโอเปกได้ให้ความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันมากถึง 152% ซึ่งหมายความว่าสมาชิกโอเปกได้ปรับลดกำลังการผลิตรวมกันมากกว่า 1.2 ล้านบาร์เรล/วันที่ได้ตกลงกันไว้

แถลงการณ์การประชุมครั้งล่าสุดของโอเปกระบุว่า "สมาชิกโอเปกได้ให้ความร่วมมือลดกำลังการผลิตน้ำมันแตะระดับ 152% ในเดือนพ.ค. ส่งผลให้ที่ประชุมมีมติในวันนี้ให้ลดตัวเลขความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันสู่ระดับ 100% โดยเริ่มต้นวันที่ 1 ก.ค."

ทางด้านแหล่งข่าวเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ที่ประชุมโอเปกมีมติเพิ่มกำลังการผลิต 1 ล้านบาร์เรล/วัน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนก.ค.

การปรับเพิ่มกำลังการผลิต 1 ล้านบาร์เรล/วัน จะสอดคล้องกับที่ซาอุดิอาระเบียเสนอก่อนหน้านี้ ขณะที่รัสเซียเสนอให้ปรับเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน

อย่างไรก็ดี เนื่องจากสมาชิกโอเปกบางประเทศไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน เนื่องจากติดขัดจากปัจจัยในประเทศ ทำให้คาดว่าตัวเลขการเพิ่มการผลิตน้ำมันที่แท้จริงจะอยู่ในระดับเพียง 600,000 บาร์เรล/วัน ซึ่งสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ และการเพิ่มกำลังการผลิตในระดับดังกล่าวจะไม่กดดันราคาน้ำมันให้ดิ่งลง

หุ้นบริษัทน้ำมันรายใหญ่ ทั้งเชฟรอน และเอ็กซอน โมบิล ต่างปิดทะยานขึ้นมากกว่า 2% หลังผลประชุมโอเปก

ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังคงติดตามสถานการณ์ความตึงเครียดทางด้านการค้าระหว่างสหรัฐและคู่ค้ารายใหญ่ อย่างจีน และสหภาพยุโรป อย่างใกล้ชิด ท่ามกลางความกังวลว่าความขัดแย้งดังกล่าวจะลุกลามกลายเป็นปัจจัยถ่วงการขยายตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ขณะที่มาตรการตอบโต้ของ EU ในการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้ามูลค่า 3.2 พันล้านดอลลาร์จากสหรัฐ เริ่มมีผลบังคับใช้ในวันศุกร์นี้

โดยล่าสุด ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทวีตข้อความขู่ที่จะเรียกเก็บภาษีจากรถยนต์ที่นำเข้าจากสหภาพยุโรป (EU) หาก EU ไม่ยกเลิกการเรียกเก็บภาษีต่อรถยนต์สหรัฐ

"จากการที่สหภาพยุโรปได้เรียกเก็บภาษี และตั้งกำแพงการค้าต่อบริษัทของสหรัฐ หากสหภาพยุโรปยังไม่ยกเลิกการเรียกเก็บภาษี และกำแพงการค้า เราก็จะเรียกเก็บภาษี 20% ต่อรถยนต์ทั้งหมดที่นำเข้าจากสหภาพยุโรป" ข้อความในทวิตเตอร์ระบุ

ทวีตดังกล่าวของทรัมป์ส่งให้หุ้นบริษัทรถยนต์พากันปรับตัวลดลง

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยวานนี้ ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต และภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ อ่อนตัวลงสู่ระดับ 56.0 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน หลังจากแตะ 56.6 ในเดือนพ.ค.

การปรับตัวลงของดัชนี PMI ในเดือนมิ.ย. ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของธุรกิจใหม่ และการจ้างงาน

อย่างไรก็ดี ดัชนียังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจของสหรัฐยังคงมีการขยายตัว

ส่วนดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น อยู่ที่ 54.6 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน จากระดับ 56.4 ในเดือนพ.ค.

สำหรับดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น อยู่ที่ 56.5 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 56.8 ในเดือนพ.ค.

หุ้นกลุ่มน้ำมันพุ่งรับผลประชุมโอเปก โดยเอ็กซอน โมบิล บวก 2.1% เชฟรอน บวก 2.1% เช่นกัน

ขณะที่หุ้นกลุ่มยานยนต์ปรับตัวลดลงหลังจากทวีตล่าสุดของทรัมป์ โดยเจนเนอรัล มอเตอร์ส ลดลงไป 0.3% ฟอร์ด มอเตอร์ ลบ 0.5% เทสลา ร่วง 3.8%

ด้านหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลงหลังหลายบริษัทรายงานผลประกอบการที่สร้างความผิดหวังให้กับตลาด โดยหุ้นเรดแฮตร่วงหนักกว่า 14% หลังบริษัทซอฟต์แวร์เปิดเผยแนวโน้มผลประกอบการรายไตรมาสที่น้อยกว่าคาด

หุ้นแบล็คเบอร์รี ร่วงเกือบ 9% โดยถึงแม้บริษัทรายงานกำไรไตรมาสแรกดีกว่าคาด แต่รายได้กลับออกมาน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

อย่างไรก็ดี หุ้นคาร์แม็กซ์ บริษัทขายรถมือสอง พุ่ง 12.86% หลังจากที่บริษัทรายงานผลประกอบการไตรมาสแรกดีกว่าการคาดการณ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ