ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงกว่า 200 จุดในวันนี้ จากความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบจากการทรุดตัวลงของค่าเงินลีราของตุรกี ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) แสดงความกังวลว่าการร่วงลงของค่าเงินลีราจะกระทบต่อธนาคารยุโรป
ณ เวลา 21.08 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 25,281.05 จุด ดิ่งลง 228.18 จุด หรือ 0.89%
หุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลงนำตลาดวันนี้
ค่าเงินลีราของตุรกียังคงดิ่งลงไม่หยุดในวันนี้ โดยล่าสุดทรุดตัวลง 20% เทียบดอลลาร์ หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์สั่งการให้เพิ่มอัตราภาษีต่อเหล็กและอลูมิเนียมที่นำเข้าจากตุรกีขึ้นอีก 2 เท่า
ทั้งนี้ ลีราดิ่งลง 20% แตะระดับ 6.797 เทียบดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หลังปธน.ทรัมป์ประกาศเพิ่มอัตราภาษีต่อตุรกี
"ผมได้สั่งการให้เพิ่มอัตราภาษีต่อเหล็กและอลูมิเนียมที่นำเข้าจากตุรกีขึ้นอีก 2 เท่า ขณะที่ค่าเงินลีราของตุรกีดิ่งลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยขณะนี้ อัตราภาษีต่อเหล็กนำเข้าจะอยู่ที่ 50% และอลูมิเนียมอยู่ที่ 20% โดยความสัมพันธ์ของเรากับตุรกีไม่ราบรื่นในขณะนี้" ข้อความในทวิตเตอร์ระบุ
การเพิ่มอัตราภาษีต่อเหล็กและอลูมิเนียมที่นำเข้าจากตุรกีมีขึ้น หลังการเจรจาซึ่งมีเป้าหมายเพื่อคลี่คลายวิกฤตทางการเมืองระหว่างตุรกีกับสหรัฐ ประสบภาวะชะงักงัน
ทั้งนี้ สหรัฐเรียกร้องให้ตุรกีปล่อยตัวบาทหลวงแอนดรูว์ บรุนสัน ซึ่งถูกทางการตุรกีควบคุมตัวตั้งแต่ปี 2559 ในข้อหาให้การสนับสนุนการก่อรัฐประหารในปี 2559
เมื่อวันที่ 1 ส.ค. สหรัฐได้ประกาศคว่ำบาตรต่อรัฐมนตรีมหาดไทยและยุติธรรมของตุรกี ซึ่งส่งผลให้มีการอายัดทรัพย์สินในสหรัฐของบุคคลทั้งสอง และชาวสหรัฐจะถูกห้ามทำธุรกรรมกับพวกเขา
นอกจากนี้ ค่าเงินตุรกียังถูกกดดัน หลังจากที่นายเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี กล่าวเรียกร้องให้ชาวตุรกีแปลงสกุลเงินดอลลาร์และทองคำให้อยู่ในรูปสกุลเงินลีรา
นายเออร์โดกันกล่าวว่า ตุรกีกำลังเผชิญสงครามเศรษฐกิจ และตุรกีจะตอบโต้ประเทศที่เป็นฝ่ายเริ่มก่อสงครามดังกล่าว
ผู้นำตุรกียังกล่าวว่า ดอลลาร์จะไม่สามารถสกัดการขยายตัวของตุรกี และเขาเรียกร้องให้ตุรกีเพิ่มการผลิต และการส่งออก
ทางด้านหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์สรายงานวันนี้ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการดิ่งลงของค่าเงินลีราของตุรกีที่จะมีต่อธนาคารยุโรป โดยเฉพาะธนาคาร BBVA ของสเปน, ธนาคาร UniCredit ของอิตาลี และธนาคาร BNP Paribas ของฝรั่งเศส
ทั้งนี้ ลีราได้ทรุดตัวลง 33% เทียบดอลลาร์ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น, การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และการที่รัฐบาลตุรกีใช้งบประมาณจำนวนมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการที่นายเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี ได้เข้าแทรกแซงนโยบายการเงินของธนาคารกลาง
การดิ่งลงของค่าเงินลีราจะส่งผลกระทบต่อธนาคารยุโรปที่ได้เข้าไปทำธุรกิจในตุรกี โดย ECB วิตกว่าการทรุดตัวของค่าเงินจะทำให้ภาคธุรกิจของตุรกีผิดนัดชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ เนื่องจากจะทำให้ลูกหนี้ในตุรกีต้องชำระหนี้ในมูลค่าของลีราที่สูงขึ้น โดยหนี้สกุลเงินต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 40% ของสินทรัพย์ในภาคธนาคารของตุรกี
ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ระบุว่า ภาคธนาคารของสเปนได้ปล่อยสินเชื่อแก่ตุรกีคิดเป็นวงเงิน 8.33 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ธนาคารฝรั่งเศสปล่อยสินเชื่อ 3.84 หมื่นล้านดอลลาร์ และธนาคารอิตาลีปล่อยสินเชื่อ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ ประเทศในยูโรโซนมีการเกินดุลการค้ากับตุรกี โดยได้ส่งออกคิดเป็นมูลค่า 6.3 หมื่นล้านยูโรในปีที่แล้ว ดังนั้น หากตุรกีประสบภาวะเศรษฐกิจล่มสลาย ก็จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของยูโรโซนเช่นกัน
ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนมิ.ย.
การปรับตัวขึ้นของดัชนี CPI ได้รับแรงหนุนจากการดีดตัวของค่าเช่าบ้าน ขณะที่ราคาอาหารปรับตัวขึ้นเช่นกัน แต่ราคาพลังงานร่วงลง
เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 2.9% ในเดือนก.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 2.9% เช่นเดียวกันในเดือนมิ.ย.
หากไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดัชนี CPI พื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบรายเดือน โดยสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% เช่นกันในเดือนพ.ค.และมิ.ย.
เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พื้นฐานดีดตัว 2.4% ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2551 หลังจากเพิ่มขึ้น 2.3% ในเดือนมิ.ย.