ตลาดหุ้นลอนดอนปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (10 ส.ค.) เช่นเดียวกับตลาดหุ้นอื่นๆในยุโรป เนื่องจากความกังวลว่าวิกฤตค่าเงินลีราของตุรกีจะส่งผลกระทบไปถึงกลุ่มธนาคารของยูโรโซน ขณะที่นักลงทุนไม่ได้มีปฏิกริยามากนักหลังอังกฤษเผยเศรษฐกิจขยายตัว 0.4% ในไตรมาส 2 ซึ่งสอดคล้องกับคาดการณ์
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,667.01 จุด ลดลง 74.76 จุด หรือ -0.97% ส่วนทั้งสัปดาห์ ดัชนีขยับขึ้นราว 0.1%
หุ้นทั่วยุโรปปรับตัวลดลงอย่างหนักในวันศุกร์ หลังจากที่หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์ส รายงานว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการดิ่งลงของค่าเงินลีราของตุรกีที่จะมีต่อธนาคารยุโรป โดยเฉพาะธนาคาร BBVA ของสเปน, ธนาคาร UniCredit ของอิตาลี และธนาคาร BNP Paribas ของฝรั่งเศส
ทั้งนี้ ลีราได้ทรุดตัวลง 33% เทียบดอลลาร์ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และการที่รัฐบาลตุรกีใช้งบประมาณจำนวนมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการที่นายเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี ได้เข้าแทรกแซงนโยบายการเงินของธนาคารกลาง
การดิ่งลงของค่าเงินลีราจะส่งผลกระทบต่อธนาคารยุโรปที่ได้เข้าไปทำธุรกิจในตุรกี โดย ECB วิตกว่าการทรุดตัวของค่าเงินจะทำให้ภาคธุรกิจของตุรกีผิดนัดชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ เนื่องจากจะทำให้ลูกหนี้ในตุรกีต้องชำระหนี้ในมูลค่าของลีราที่สูงขึ้น โดยหนี้สกุลเงินต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 40% ของสินทรัพย์ในภาคธนาคารของตุรกี
ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ระบุว่า ภาคธนาคารของสเปนได้ปล่อยสินเชื่อแก่ตุรกีคิดเป็นวงเงิน 8.33 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ธนาคารฝรั่งเศสปล่อยสินเชื่อ 3.84 หมื่นล้านดอลลาร์ และธนาคารอิตาลีปล่อยสินเชื่อ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ ประเทศในยูโรโซนมีการเกินดุลการค้ากับตุรกี โดยได้ส่งออกคิดเป็นมูลค่า 6.3 หมื่นล้านยูโรในปีที่แล้ว ดังนั้น หากตุรกีประสบภาวะเศรษฐกิจล่มสลาย ก็จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของยูโรโซนเช่นกัน
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจอังกฤษที่มีการเปิดเผยวานนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัว 0.4% ในไตรมาส 2 สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากเติบโต 0.2% ในไตรมาส 1
เมื่อเทียบรายปี เศรษฐกิจอังกฤษมีการเติบโต 1.3% ในไตรมาส 2
นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษยังได้เปิดเผยตัวเลขดุลการค้า โดยตัวเลขการขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 8.6 พันล้านปอนด์ในไตรมาส 2 อันเนื่องจากการส่งออกที่ลดลง และการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น
ONS ระบุว่า การลดลงของการส่งออกเครื่องบินและรถยนต์ไปยังประเทศที่อยู่นอกกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัวเลขการขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ตัวเลขดุลการค้าที่ย่ำแย่เป็นการยืนยันว่าอังกฤษยังคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่จะมีเศรษฐกิจที่มีความสมดุล
อย่างไรก็ตาม ดัชนีหุ้นลอนดอนยังคงปรับตัวขึ้นได้เล็กน้อยในรอบสัปดาห์ เพราะได้แรงหนุนจากเงินปอนด์ที่ยังคงอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีปรับตัวขึ้นติดต่อกัน 4 วันทำการ ก่อนที่จะมาปรับตัวลดลง 0.5% ในวันพฤหัสบดี และอีกเกือบ 1% ในวันศุกร์
เงินปอนด์อ่อนค่าลง 0.4% สู่ระดับ 1.2757 ดอลลาร์ จาก 1.2824 ดอลลาร์ในวันพฤหัสบดี โดยเงินปอนด์ที่อ่อนค่าได้ช่วยหนุนหุ้นบริษัทข้ามชาติที่จดทะเบียนในดัชนี FTSE 100
สำหรับการซื้อขายที่ตลาดหุ้นลอนดอนวานนี้ หุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวลดลงหลังจากรายงานข่าวของไฟแนนเชียล ไทม์ส โดยบาร์เคลย์ร่วงลง 2% สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ลบ 1.9% รอยัล แบงก์ ออฟ สกอตแลนด์ ลดลง 1.7% เอชเอสบีซีลดลง 0.6%
ขณะเดียวกัน หุ้นกลุ่มค้าปลีกปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยหุ้นเน็กซ์ ร้านเสื้อผ้ารายใหญ่ ลบ 1.3% หุ้นมาร์ค แอนด์ สเปนเซอร์ ลดลง 1.1%
หุ้นเอฟราซ บริษัทเหมืองและผู้ผลิตเหล็กกล้ารายใหญ่ ร่วงลงหนักสุดในบรรดาหุ้นบลูชิป โดยร่วงลงไปถึง 8.99%
ด้านหุ้นบวกนำโดย คาร์นิวัล บริษัทเรือสำราญรายใหญ่ พุ่ง 2.03% หุ้น TUI AG บวก 1.49% และหุ้น WPP PLC บวก 1.44%