ดาวโจนส์ฟื้น หลังดิ่งเกือบ 200 จุดในวันศุกร์ นักลงทุนจับตาวิกฤตค่าเงินตุรกี

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 13, 2018 21:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ฟื้นตัวขึ้นในวันนี้ หลังดิ่งลงเกือบ 200 จุดในวันศุกร์

อย่างไรก็ดี ช่วงบวกย้งคงถูกจำกัดจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการดิ่งลงของค่าเงินตุรกี และผลกระทบที่จะลุกลามไปยังประเทศต่างๆ

ณ เวลา 21.04 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 25,346.36 จุด เพิ่มขึ้น 33.22 จุด หรือ 0.13%

หุ้นซิสโก้ ซิสเต็มส์ดีดตัวขึ้นมากที่สุดในการซื้อขายช่วงแรก

ตลาดหุ้นเอเชียและยุโรปต่างปรับตัวลงในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนจับตาวิกฤตค่าเงินลีราของตุรกี ซึ่งได้ทรุดตัวลง 45% ในปีนี้

นอกจากนี้ นักลงทุนยังได้พากันเทขายสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ในวันนี้ ส่งผลให้สกุลเงินแรนด์ของแอฟริกาใต้, รูปีของอินเดีย และรูเปียห์ของอินโดนีเซีย ต่างอ่อนค่าลงอย่างมาก

ค่าเงินลีราของตุรกีดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ในช่วงบ่าย ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจของตุรกี และผลกระทบที่จะลุกลามไปยังประเทศต่างๆ ก่อนที่ลีราจะลดช่วงติดลบในเวลาต่อมา โดยได้ปัจจัยบวกจากมาตรการของธนาคารกลางตุรกี

ทั้งนี้ ลีราอ่อนค่าลง 3.5% สู่ระดับ 6.6475 เทียบดอลลาร์ หลังจากที่ทรุดตัวลงแตะระดับ 7.24 เทียบดอลลาร์ก่อนหน้านี้

ลีราได้แรงหนุน หลังจากที่ธนาคารกลางตุรกีประกาศว่า ทางธนาคารกลางจะจับตาตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด และจะดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาด รวมทั้งอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินของประเทศ นอกจากนี้ ธนาคารกลางยังได้ประกาศปรับลดสัดส่วนการกันสำรองสกุลลีราของธนาคารพาณิชย์ 2.50% ในวันนี้

ขณะเดียวกัน รัฐบาลตุรกีมีกำหนดประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในวันนี้ เพื่อเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการทรุดตัวของค่าเงินลีรา

ลีราดิ่งลงอย่างหนักในวันศุกร์ หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งการให้เพิ่มอัตราภาษีต่อเหล็กและอลูมิเนียมที่นำเข้าจากตุรกีขึ้นอีกสองเท่า โดยอัตราภาษีต่อเหล็กนำเข้าจะอยู่ที่ 50% และอลูมิเนียมอยู่ที่ 20%

การเพิ่มอัตราภาษีต่อเหล็กและอลูมิเนียมที่นำเข้าจากตุรกีมีขึ้น หลังการเจรจาซึ่งมีเป้าหมายเพื่อคลี่คลายวิกฤตทางการเมืองระหว่างตุรกีกับสหรัฐ ประสบภาวะชะงักงัน

ทั้งนี้ สหรัฐเรียกร้องให้ตุรกีปล่อยตัวบาทหลวงแอนดรูว์ บรุนสัน ซึ่งถูกทางการตุรกีควบคุมตัวตั้งแต่ปี 2559 ในข้อหาให้การสนับสนุนการก่อรัฐประหารในปี 2559

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. สหรัฐได้ประกาศคว่ำบาตรต่อรัฐมนตรีมหาดไทยและยุติธรรมของตุรกี ซึ่งส่งผลให้มีการอายัดทรัพย์สินในสหรัฐของบุคคลทั้งสอง และชาวสหรัฐจะถูกห้ามทำธุรกรรมกับพวกเขา

นอกจากนี้ ค่าเงินตุรกียังถูกกดดัน หลังจากที่นายเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี กล่าวเรียกร้องให้ชาวตุรกีแปลงสกุลเงินดอลลาร์และทองคำให้อยู่ในรูปสกุลเงินลีรา

ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการดิ่งลงของค่าเงินลีราของตุรกีที่จะมีต่อธนาคารยุโรป โดยเฉพาะธนาคาร BBVA ของสเปน, ธนาคาร UniCredit ของอิตาลี และธนาคาร BNP Paribas ของฝรั่งเศส

ทั้งนี้ ลีราได้ทรุดตัวลงตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และการที่รัฐบาลตุรกีใช้งบประมาณจำนวนมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการที่นายเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี ได้เข้าแทรกแซงนโยบายการเงินของธนาคารกลาง

นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

กระทรวงพาณิชย์ของจีนประกาศเรียกเก็บภาษี 25% ต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐวงเงิน 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงน้ำมันดิบและรถยนต์ เพื่อตอบโต้สหรัฐซึ่งได้เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มเติมในอัตรา 25% วงเงิน 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 ส.ค.

ก่อนหน้านี้ คณะทำงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนล็อตแรกในอัตรา 25% วงเงิน 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา และหลังจากนั้นไม่นาน จีนก็ได้ออกมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐในอัตราและวงเงินที่เท่ากัน

ทั้งนี้ สหรัฐออกมาตรการเรียกเก็บภาษี 25% ต่อสินค้านำเข้าจากจีนทั้ง 2 ล็อต คิดเป็นวงเงินรวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจีนก็ได้ตอบโต้ในอัตราภาษีและวงเงินที่เท่ากัน

เมื่อช่วงกลางเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานตัวแทนการค้าสหรัฐ (USTR) ได้ประกาศรายการสินค้าจำนวน 1,100 รายการของจีนที่ต้องถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 25% คิดเป็นวงเงินรวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยสินค้าล็อตแรกจำนวน 818 รายการ วงเงิน 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ มีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา ส่วนการเรียกเก็บภาษีสินค้าล็อตที่ 2 วงเงิน 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 ส.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ